สจล. จับมือ รพ.สิรินธร ผลิตแพทย์ยุคศตวรรษที่ 21 เก่งรักษาควบคู่ทักษะสร้างนวัตกรรมสมัยใหม่ หวังลดมูลค่านำเข้าปีละกว่าแสนล้าน! เปิดรับรุ่นแรก 5 - 26 มี.ค. นี้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้เร่งพัฒนาและขยายหลักสูตรการศึกษารองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายที่มุ่งเน้นการต่อยอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของสถาบัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศชาติ โดยทำการขยายหลักสูตรให้ครอบคลุมการเรียนการสอนด้านแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้วยการจัดตั้ง “คณะแพทยศาสตร์” หลักสูตรนานาชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจมุ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมทักษะด้านการศึกษาวิจัย และความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ และยกระดับกระบวนการรักษาที่ดีเลิศอยู่แล้วให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น อันเป็นการสนองต่อการพัฒนางานบริการสุขภาพของประเทศ หลักสูตรนี้จึงไม่เพียงผลิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการรักษาเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน ยังเป็นผู้ใช้หรือผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ได้อย่างชำนาญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการรักษาที่สูงขึ้นตามไปด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามามีบทสำคัญต่อวงการแพทย์มากขึ้น บัณฑิตแพทย์ยุคใหม่จึงต้องมีทักษะและความเชี่ยวชาญที่รอบด้าน ไม่เฉพาะความเป็นเลิศด้านการตรวจวินิจฉัยรักษาผู้ป่วย แต่ยังต้องมีความสามารถในการใช้หรือพัฒนาเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และลดการนำเข้าเทคโนโลยีด้านการแพทย์จากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่านำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ระดับสูง เช่น อวัยวะเทียม เครื่องเอกซเรย์ และเครื่องสแกน ที่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตและมาตรฐานความปลอดภัย โดยข้อมูลจาก SCB Economic Intelligence Center ระบุว่ามูลค่าการนำเข้าในปี 2558 สูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่าแสนล้านบาท ในขณะที่การส่งออกมีมูลค่าเพียง 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หลักสูตรแพทยศาสตร์หลักสูตรนานาชาติของ สจล. จึงควบรวมองค์ความรู้ 4 ประการ ได้แก่ 1. ความเป็นแพทย์ 2. ความเป็นนักวิจัย 3. ความเป็นสากล และ 4. ความเชี่ยวชาญทักษะแห่งทศวรรษที่ 21 ภายใต้การบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อสร้างแพทย์ที่มีความเป็นเลิศ โดยจัดการเรียนการสอนร่วมกับคณะอื่นในสถาบัน อาทิ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษามีมุมมองที่กว้างไกล มีจินตนาการ และสามารถทำงานร่วมกับบุคลากรสาขาอาชีพอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ลักษณะสำคัญที่ต่างจากหลักสูตรแพทยศาสตร์ในสถาบันอื่น คือ การทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์มีความสามารถด้านการวิจัย อันเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และพร้อมก้าวสู่สังคมแห่งนวัตกรรม ไม่เพียงเท่านั้นสำหรับรูปแบบการเรียนการสอนยังได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เรียน อาทิ ระบบจำลองฝึกปฏิบัติการกายวิภาค 3 มิติแบบจอสัมผัส เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ และหุ่นฝึกการฟังเสียงในร่างกายผู้ใหญ่ เพื่อใช้ในการฝึกฟังเสียงในร่างกายทั้งในภาวะปกติและผิดปกติ เป็นต้น” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า หลักสูตรแพทยศาสตร์ สจล. นั้น พัฒนาขึ้นโดยใช้กรอบความคิดของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในศตวรรษที่ 21 กำหนดวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1. บัณฑิตต้องมีความรู้ความสามารถสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (medical professional competencies) ตามมาตรฐานของประเทศไทยและสากล 2. บัณฑิตมีทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะด้านสังคมและการดำเนินชีวิต (life and career skills) ทักษะในการเรียนรู้และนวัตกรรม (learning and innovation skills) และ ทักษะในการจัดการข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี (information, media and technology skills) 3. บัณฑิตต้องเป็นนักวิจัยที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และสร้างผลงานวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 4. บัณฑิตต้องมีความเป็นสากลและตระหนักในการเป็นพลเมืองของโลก ควบคู่ไปกับกลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผลงานและการปฏิบัติ (outcome and task-based learning) การจัดให้มีประสบการณ์ทางคลินิกตั้งแต่ในระยะแรกและตลอดหลักสูตร โดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลในเครือข่ายของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร การเรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้จากโครงการวิจัย และการสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นสากล ตามมาตรฐานสากลสำหรับแพทยศาสตรศึกษา (World Federation for Medical Education: WFME)
ทั้งนี้ การเรียนตลอดหลักสูตร นักศึกษาจะได้เรียน ทั้งสิ้น 247 หน่วยกิต จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและดำเนินการแบบหลักสูตรนานาชาติ คือมีอาจารย์และนักศึกษาส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ ระยะเวลาศึกษา 6 ปี หรือ 12 ภาคการศึกษาในระบบทวิภาค แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้ 1. ระยะการศึกษาทั่วไป 2. ระยะการศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3. ระยะการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 4. ระยะการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก สำหรับชั้นปรีคลินิกจัดให้มีคณาจารย์จากทั้งคณะแพทยศาสตร์ สจล. และจากโรงพยาบาลสิรินธร นอกจากนี้ยังมีบุคคลากรสาขาวิชาอื่นๆ จากสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ การบริหารและการจัดการ ส่วนในชั้นคลินิกจะมีการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสิรินธร โดยคาดว่าภายในปี 2564 จะมีบุคลากรกว่า 120 คน ที่สำคัญบุคลากรทางวิชาการทุกคนจะต้องสามารถทำการวิจัย และให้คำปรึกษาในการทำวิจัยแก่นักศึกษาได้อย่างถูกต้อง จึงเชื่อมั่นว่าหลักสูตรนี้จะเป็นการเปิดมิติใหม่ ในการผลิตแพทย์เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21อย่างแน่นอน กำหนดเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 50 คน ในปีการศึกษา 2561 วันที่ 5 - 26 มี.ค. นี้
ด้าน นพ.ยลชัย จงจิระศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิริธร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า กรุงเทพมหานคร และ สจล. ได้ตระหนักและเล็งเห็นร่วมกันในปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย และการขาดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ในการให้บริการรักษาพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูง ความร่วมมือโดยนำจุดเด่นและศักยภาพของคณะแพทยศาสตร์ สจล. ในครั้งนี้ กล่าวได้ว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือและการใช้ทรัพยากรของชาติ ที่มีได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ภารกิจความร่วมมือในการผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีคุณธรรม จริยธรรมแห่งวิชาชีพ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยโรงพยาบาลสิรินธรจะเป็นโรงพยาบาลหลัก ในการจัดการเรียนการสอนชั้นคลินิกในระดับชั้นปีที่ 4, 5 และ 6 และโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานครเป็นโรงพยาบาลสมทบ ไม่เพียงเท่านั้นยังจะมีการร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของโรงพยาบาลสิรินธร ให้มีขีดความสามารถและพร้อมในการทำหน้าที่สถานบันร่วมผลิตแพทย์ และพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพตามมาตรฐาน ทั้งในด้านวิชาการ ตำแหน่งหน้าที่ และตำแหน่งทางวิชาการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง ให้เป็นศูนย์การแทพย์ที่มีศักยภาพระดับตติยภูมิชั้นสูงต่อไป