กรมวิทย์ ร่วมศูนย์สิริกิติ์ฯ พัฒนาตรวจยีน “มะเร็งเต้านม” ช่วยวางแผนรักษาแบบเจาะจง แม่นยำมากขึ้น เลี่ยงความเสี่ยงแพ้ยา ลดการการให้ยาเคมีบำบัดได้กว่า 30% เร่งศึกษา “ภูมิคุ้มกันบำบัด” เผย ระดับหลอดทดลองฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมได้ดี คาด อีก 1 ปีรู้ผลวิจัยในคนฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมได้หรือไม่
วันนี้ (26 ก.พ.) ที่ห้องประชุมศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ ชั้น 9 อาคารว่องวานิช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นพ.กฤษณ์ จาฏามระ หัวหน้าศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ สภากาชาดไทย และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยมี นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธาน
นพ.สุขุม กล่าวว่า กรมฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแพทย์แม่นยำ โดยเฉพาะเรื่องของการตรวจพันธุกรรมหรือยีน เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่ อย่างเช่น แองเจลินา โจลี นักแสดงหญิงชื่อดังที่ตรวจพบยีนมะเร็งเต้านม และตัดสินใจตัดเต้าเพื่อป้องกัน หรือดูว่าแพ้ยาหรือไม่ เมื่อพบว่ามีความเสี่ยงก็สามารถป้องกันล่วงหน้าได้ ก็ช่วยให้การรักษามีอันตรายน้อยลง หรือมะเร็งตอบสนองต่อยาอะไร ก็สามารถให้ยาเหมาะสมกับบุคคลได้ ซึ่งการร่วมมือกันระหว่างสองหน่วยงานจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลมีคุณภาพมาตรฐานในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเรารู้มากขึ้น การตรวจยีนมะเร็งเต้านมก็สามารถรู้ได้หลายจุด จึงช่วยให้เลือกวิการรักษาได้ดีขึ้น
“การร่วมผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการตรวจในระดับยีนส่วนบุคคล มีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค ติดตามผลการรักษา ติดตามการกลับมาเป็นซ้ำของผู้ป่วยภายหลังเข้ารับการรักษาและใช้เป็นแนวทางในการเลือกยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ช่วยลดการใช้ยาเคมีบำบัดโดยไม่จำเป็น สำหรับสิ่งที่เราสนใจพัมนาร่วมกันต่อ คือ การพัมนาเรื่องของการนำภูมิคุ้มกันตนเองมาใช้รักษาโรคมะเร็ง เพิ่มเติมจากการรักษามาตรฐาน คือ การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และฉายแสง ซึ่งการใช้ภูมิคุ้มกันตนเองคือ ทำให้ร่างกายรู้จักมะเร็งและทำลายมะเร็ง ซึ่งถ้าผลวิจัยออกมาเป็นที่น่าพอใจก็จะสามารถใช้บริการโดยทั่วไปได้ ถือเป็นความหวังใหม่ในการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นพ.สุขุม กล่าว
นพ.สมชาย แสงกิจพน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่างกรมฯ และศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ พบว่า ในการตรวจยีน 1 ยีน เราสามารถได้ถึง 50 จุด ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ศูนย์สิริกิติ์ฯ รักษามะเร็งได้ตรงมากยิ่งขึ้น แม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยประมาณ 20 ราย สามารถเลือกวิธีการรักษาได้ บางรายไม่ต้องใช้เคมีบำบัด เพราะอย่างไรก็ใช้ไม่ได้ผล ส่วนเรื่องการศึกษาภูมิคุ้มกันวิทยาในมะเร็งเต้านม ขณะนี้ทำมาได้ประมาณ 1 ปี โดยเอาเซลล์มะเร็งผู้ป่วย และเซลล์ภูมิคุ้มกันผู้ป่วยมาพบกันให้จำกันได้ และใส่เซลล์ภูมิคุ้มกันเข้าไปใหม่ ให้ไปทำลายมะเร็งโดยตรงนั้น ในขั้นของหลอดทดลองเห็นชัดเจนว่าสามารถทำลายมะเร็งได้ แต่การทดลองในมนุษย์ยังอยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าอีก 1 ปี จะตอบคำถามได้ชัดเจนว่าสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้หรือไม่
นพ.กฤษณ์ กล่าวว่า ความร่วมมือมีการดำเนินการมากว่า 5 ปีแล้ว ทำให้ขณะนี้ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถสามารถให้บริการตรวจยีนโปรไฟล์ได้ และให้บริการมากว่า 6 เดือนแล้ว โดยการสร้างยีนโปรไฟล์คนไข้จะช่วยให้ทราบว่า ยีนมะเร็งของคนไข้รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อยู่กลุ่มไหน ซึ่งมะเร็งเต้านมก็มีหลายชนิด ตอบสนองต่อการรักษาแบบใด ควรรักษามากน้อยอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเกือบ 30% ไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น การมีข้อมูลเช่นนี้ช่วยให้เราสามารถวางแผนการรักษาให้พอดีๆ เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้ ถือเป็นการแพทย์แม่นยำที่มีความยาก เพราะเป็นการลงลึกค้นเป็นคนๆ ไป ไม่ใช่การรักษาแบบกวาดกว้าง ซึ่งการรักษาแบบแม่นยำพอดี จะช่วยให้คนไข้สบายขึ้น โอกาสหายยิ่งสูง และคุณภาพชีวิตดีขึ้น