สอศ. ปลื้ม วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก หรือ อี.เทค ได้รับการรับรองประกันคุณภาพมาตรฐานเยอรมัน
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ หอการค้าเยอรมัน - ไทย สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ (GIZ) ได้ก่อตั้ง “โครงการเยอรมัน - ไทย เพื่อความเป็นเลิศในการศึกษาทวิภาคี (German Thai Excellence Education) หรือ GTDEE เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านแรงงานที่ขาดความสามารถและความเชี่ยวชาญ โครงการนี้ได้นำไปใช้ในการส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพของฝีมือแรงงานไทยในอนาคต เพื่อผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูงรองรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ
ดร.สุเทพ กล่าวว่า จุดเด่นการสร้างสมรรถนะแก่ผู้เรียน ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา ผนวกเข้ากับการสร้างประสบการณ์การทำงานจริงจากสถานประกอบการ แบ่งหลักสูตรออกเป็นภาคทฤษฎี (College Based Learning) 40% และภาคปฏิบัติ (Company Based Learning) 60% ผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียน และฝึกอาชีพตามหลักสูตรที่ปรับใช้จากหลักสูตรมาตรฐานของเยอรมัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้ชำนาญงานในสถานประกอบการร่วมสังเกตการณ์และเป็นผู้ให้ความรู้ และฝึกหัดอาชีพควบคู่กับการเรียนภาคทฤษฎีในวิทยาลัย รวมถึงเน้นการฝึกทักษะในภาคปฏิบัติ โดยสถานประกอบการสามารถเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ของผู้เรียนให้ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ดีถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการอาชีวศึกษา เป็นการเตรียมความพร้อมกำลังคนด้านวิชาชีพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ในระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสมัยใหม่
ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ได้รับการรับรองประกันคุณภาพตามมาตรฐานเยอรมัน จากหอการค้าเยอรมัน - ไทย ซึ่งเป็นการประเมินในรูปแบบของการประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศเยอรมัน เป็นการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญจากสถานการณ์จริง ได้แก่ การประเมินทักษะในการถ่ายทอดความรู้ของครู การใช้สื่อการสอน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนและผู้เรียน การประเมินความรู้ที่ผู้เรียนได้รับ รวมถึงความเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ทั้งก่อนและหลังบทเรียนเป็นการยกระดับการอาชีวศึกษา
ดร.สุเทพ กล่าวว่า โครงการ GTDEE ยังให้บริการในด้านพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาโดยใช้ชื่อว่า “การประกันคุณภาพอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมสำหรับสถาบันอาชีวในประเทศไทย” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพระบบอาชีวศึกษาเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่ครูและผู้เรียนในวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ ในวิทยาลัย เช่น ผู้บริหาร ผู้ปกครอง บุคลากรในวิทยาลัย อาคารเรียน สื่อการเรียนการสอน สถานที่และเครื่องมือสำหรับฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ