xs
xsm
sm
md
lg

ไตรภาคีประสานเสียง 17 ม.ค.นี้ ต้องสรุปเคาะค่าจ้างขั้นต่ำปี 61

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไตรภาคีประสานเสียง 17 ม.ค. ต้องได้ข้อสรุปค่าจ้างขั้นต่ำปี 61 ด้านตัวแทนลูกจ้างเสนอปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 4 กลุ่ม ฝ่ายนายจ้างชี้ต้องพิจารณาตามรายจังหวัด ด้าน ก.แรงงาน หวังทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ

ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เลื่อนเคาะค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 เป็นวันที่ 17 ม.ค. 2561 จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และกังวลว่าการปรับขึ้นค่าจ้างอาจไม่เป็นธรรมและอาจไม่ได้ข้อสรุป

วันนี้ (15 ม.ค.) นายประจวบ พิกุล คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ตนเชื่อว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันที่ 17 ม.ค. นี้ จะต้องได้ข้อสรุปค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะไม่ได้มีข้อยืดเยื้ออะไรมาก เหลือเพียงแบ่งกลุ่มจังหวัดปรับค่าจ้างเป็นกี่กลุ่ม ซึ่งเดิมทีในการประชุมมีข้อเสนอถึง 20 กลุ่ม 20 ขั้นบันได ซึ่งมีจำนวนมากเกินไป และในหลายจังหวัดทางอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก อย่างจังหวัดระนองไม่ขอขึ้น ซึ่งเมื่อนำมาเข้าข้อมูล หรือเข้าสูตรคำนวณปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จำเป็นต้องปรับขึ้นทุกจังหวัด ไม่ขึ้นไม่ได้ เพียงแต่ว่าต้องจัดกลุ่มให้เหมาะสม ซึ่งจริงๆ ควรอยู่ที่ 4 กลุ่มขั้นบันไดก็พอ โดยแต่ละกลุ่มจะเป็นออกเป็นจังหวัดที่ควรขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเท่าไรก็ต้องมาพิจารณาตามสูตร เช่น ค่าจีดีพีของจังหวัดนั้นๆ และประสิทธิภาพแรงงาน เป็นต้น ซึ่งก็จะแบ่งไม่เท่ากัน

“หากแบ่งออกเป็น 4 ขั้น จะทราบว่าจังหวัดไหนควรอยู่ขั้นไหน เช่น ขั้นต่ำสุดกี่บาท ขั้นสูงสุดกี่บาท เดิมทีต่ำสุดมีการพูดกันว่าอยู่ที่ 3 บาทได้หรือไม่ แต่ฝั่งลูกจ้างมองว่าขึ้นค่าจ้างจาก 300 บาท มาเป็นวันละ 303 บาทจะเพียงพอค่าครองชีพกับสอดคล้องกับเศรษฐกิจของจังหวัดจริงหรือไม่ ก็ต้องมาคำนวณ ซึ่งตรงนี้ยังไม่ทราบว่า กลุ่มจังหวัดที่ได้ต่ำสุดจะได้เท่าไร แต่สูงสุดนั้นตนมองว่าคงไม่น่าจะเกิน 12 บาท ซึ่งที่เป็นข่าวว่า จะขึ้นเป็น 15 บาทนั้นไม่น่าจะได้” นายประจวบ กล่าว

ด้าน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การพิจารณาต้องจบในวันที่ 17 ม.ค. นี้ เพราะถ้าไม่มีข้อขัดแย้ง หรือปัญหาอะไรก็ต้องจบ ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า การประชุมมีทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ดังนั้น ก็ต้องให้ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจด้วย แต่ทั้งนี้ ก็ต้องเอาเกณฑ์แต่ละจังหวัด ซึ่งมีอนุกรรมการค่าจ่างจังหวัดเสนอเข้ามา ก็ต้องพิจารณาว่า มีการทบทวนหรือไม่ และนำข้อเสนอดังกล่าวนำมาคิดคำนวณว่าถูกต้องตามสูตรคำนวณหรือไม่ ประกอบกับต้องพิจารณาบริบทจากส่วนกลางด้วย ทั้งนี้ ยังไม่ได้ตั้งกลุ่มเป็น 4 กลุ่มหรือขั้นบันไดอะไร และไม่มีการเสนอว่าจะแบ่งกลุ่มแบบไหน เพราะสุดท้ายต้องมาพิจารณากันในบอร์ดค่าจ้างวันที่ 17 ม.ค. นี้ ดังนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะแบ่งกลุ่มจังหวัดเป็นกี่กลุ่ม และจังหวัดไหนจะได้ปรับค่าจ้างขึ้นในอัตราเท่าใด

นายอรรถยุทธ์ ลียะวณิช ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวว่า คงไม่สามารถตอบได้ว่าเงินค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นในปี 2561 นั้น จะขึ้นมากสุดหรือน้อยสุดเท่าไร หรือจะแบ่งกลุ่มขึ้นค่าจ้างเป็นกี่กลุ่ม เพราะขึ้นกับการพิจารณาของบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งโดยหลักการแล้วจะพิจารณาจาก 1. ความจำเป็นของลูกจ้างที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ 2. ความสามารถของนายจ้างที่จะจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน และ 3. ผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศเป็นอย่างไร และจะพิจารณาแบบรายจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีความแตกต่างกันไปในเรื่องของเศรษฐกิจ การจ้างงานต่างๆ ดังนั้น แม้จังหวัดใกล้เคียงกันก็อาจขึ้นไม่เท่ากันก็ได้ หรือจังหวัดที่อยู่ห่างไกลกัน แต่พิจารณาตามความจำเป็นแล้วอาจขึ้นในตัวเลขเท่ากันก็ได้

“ประเทศไทยมีมากกว่า 70 จังหวัด ก็ต้องมีบ้างที่ตัวเลขขึ้นค่าจ้างอาจขึ้นตรงกันด้วยความบังเอิญ หลังพิจารณาตามความจำเป็นรายจังหวัดแล้ว แต่ต้องไม่ใช่การขึ้นเท่ากันด้วยการมาจากตั้งใจเคาะให้ได้รับการขึ้นที่เท่ากัน ยืนยันว่าต้องพิจารณาตามเหมาะสมรายจังหวัดว่าจะเป็นเท่าใด ซึ่งก็ต้องติดตามในการประชุมวันที่ 17 ม.ค. นี้” นายอรรถยุทธ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น