xs
xsm
sm
md
lg

BDMS รุกพัฒนา “COE Cancer” ศูนย์เฉพาะทางด้านมะเร็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“โรคมะเร็ง” ถือเป็น 1 ใน 5 โรค ที่โรงพยาบาลกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Center of Excellence : COE)” ร่วมกับโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุ และออร์โธปิดิกส์ เริ่มต้นใน 9 โรงพยาบาลจากโรงพยาบาลในกลุ่มทั้งหมด 45 โรง

สาเหตุที่โรงพยาบาลกลุ่ม BDMS ต้องพัฒนาให้เป็น COE ด้านมะเร็ง นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่ม BDMS กล่าวว่า เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก ประกอบกับการดูแลรักษานั้นจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการรักษาจำนวนมาก ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ถือว่ามีราคาสูง ดังนั้น การดูแลรักษาโรคมะเร็งแนวคิดจะต่างจากโรคอื่นทั่วๆ ไป ที่ยิ่งกระจายเข้าถึงชุมชนหรือกระจายไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี แต่โรคมะเร็งจะต้องเป็นการรักษาแบบรวมศูนย์ การกระจายจะไม่ได้การรักษาที่ดีที่สุด จึงเป็นที่มาของการเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านมะเร็ง

อย่างโรคทั่วๆ ไป จะใช้คอนเซ็ปต์แบบใกล้บ้านใกล้ใจได้ คือประชาชนมารักษาใกล้บ้านได้ แต่โรคมะเร็งจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือเฉพาะในการรักษา ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ไม่ได้หาได้ง่ายๆ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งกว่าจะเรียนจบใช้เวลาอย่างน้อย 10 - 15 ปี เครื่องมือในการรักษาต้องมีการลงทุนสูง หลักสิบล้านหรือร้อยล้านบาท ดังนั้น การรักษาจึงต้องรวมศูนย์เป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง แต่กระจายไปรักษาแบบใกล้บ้านใกล้ใจไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น สมมติให้ยาเคมีบำบัดแบบใกล้บ้าน แต่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้ เป็นต้น” นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าว

นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าวอีกว่า หลายๆ ประเทศหรือแม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังระบุว่าการรักษาโรคมะเร็งต้องใช้การรวมศูนย์ เพราะหากกระจายการรักษาออกไปจะหาบุคลากรหรือเครื่องมือไม่ได้ จึงต้องมีศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางขึ้น อย่างในประเทศไทยก็เริ่มต้นจากการมีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และมีศูนย์มะเร็งในภูมิภาค 7 แห่ง เพื่อให้คนในแต่ละภูมิภาคเข้าถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของภาครัฐจะมีงบประมาณในการลงทุนเรื่องเหล่านี้ แต่สำหรับภาคเอกชนอย่าง BDMS คงไม่สามารถกระจายศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านมะเร็งไปตามภูมิภาคเช่นนั้นได้ทั้งหมด โดยศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านมะเร็งของ BDMS ในส่วนกลาง คือ รพ.วัฒโนสถ สามารถให้บริการได้ครับทั้งหมดของสามเสาหลักการรักษาโรคมะเร็งคือ ผ่าตัด ฉายแสง และเคมีบำบัด

นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลกลุ่ม BDMS ในส่วนภูมิภาค ก็สามารถรองรับผู้ป่วยโรคมะเร็งได้เช่นกัน โดยเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลวัฒโนสถ (Wattanosoth Cancer Center Network) เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งจะต้องมีการประชุมทีมแพทย์เชี่ยวชาญแต่ละสาขาว่าจะวางแผนการรักษาในแต่ละกรณีอย่างไรบ้าง ทำให้ไม่ว่าเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งใด ก็มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลรักษาว่าต้องทำสิ่งใดก่อนหลัง เช่น จะผ่าตัดก่อนหรือไม่ หรือให้ยาเคมีบำบัดก่อน เป็นต้น ซึ่งหากโรงพยาบาลกลุ่ม BDMS ในภูมิภาค มีความพร้อมก็สามารถดูแลรักษาได้ทันที แต่หากมีข้อจำกัดบางประการ อาจใช้วิธีการส่งตัวมารักษาที่ส่วนกลาง หรือปรึกษามายังโรงพยาบาลวัฒโนสถทาง Teleconference หรือส่งทีมแพทย์จากส่วนกลางไปช่วยดูแลในภูมิภาคแทน

สำหรับการพัฒนาเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งนั้น นายแพทย์ ธีรวุฒิ ระบุว่า ต้องมีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน อย่างเรื่องด้านวิชาการหรืองานวิจัย BDMS มีการจับมือเป็นสถาบันพี่น้องกับ สถาบันมะเร็ง เอ็มดี แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นศูนย์มะเร็งอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ ต้องมีความปลอดภัย โดยมีการพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐาน JCI ผลการรักษาต้องดี และเรื่องบริการต้องดีด้วย โดยการดำเนินการจะเป็นไปอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตรวจเช็กความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง การให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว การตรวจคัดกรองระยะเริ่มต้น การรักษา ฟื้นฟู และวนกลับมาตรวจติดตามอีก

การพัฒนาให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านมะเร็ง นอกจากจะเป็นการช่วยภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการช่วยรองรับนโยบายเมดิคัล ฮับ ของประเทศไทยด้วย เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นปัญหาของคนทั่วโลก แต่เมื่อเราพัฒนาจนเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง คือมีมาตรฐานแบบระดับโลก ชาวต่างประเทศจำนวนมากจึงไว้ใจและเดินทางมารักษา ซึ่งส่งผลดีในเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วย” นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าวสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น