ภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล สถาบันอาหาร (National Food Institute : NFI) ได้จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ 20 ปี เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นไปอย่างมีแบบแผนและมีทิศทาง รวมถึงสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564)
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ได้เปิดเผยถึงบทบาทของสถาบันอาหาร ต่อนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ 4.0 ว่า สถาบันอาหาร ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการทำงานภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ 20 ปี ว่า “ประชารัฐรวมใจประเทศไทยเป็นครัวของโลก” โดยมีเป้าหมายในการเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารติดอันดับ TOP 5 ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยปรับบทบาทเป็นการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการอาหาร ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคอุตสาหกรรมบริการ
สถาบันอาหาร ได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายโดยนำเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขันของผู้ประกอบการอาหารไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Food Warrior) ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทยในเวทีโลก 2. การเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพให้มีการขยายตัวให้ได้ร้อยละ 2 ต่อปี โดยพัฒนามาตรฐานสินค้าอาหารแปรรูปทั้งด้านรสชาติและมาตรฐาน 3. การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการค้าและการส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ เพื่อให้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย ร้อยละ 8 ต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2560 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ลดลงจากอันดับที่ 13 เมื่อปี 2559 โดยมีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่ที่ร้อยละ 2.35 โดยคาดว่าในปี 2561 อุตสาหกรรมอาหารไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.7 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.12 ล้านล้านบาท
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวต่อไปว่าการให้ Intelligent Information แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เพื่อให้ทราบถึงทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศในการก้าวสู่ยุค 4.0 ซึ่งจะต้องเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพ ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าในตลาด ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ข้าว (Resource) ในมูลค่า 10 บาท เมื่อแปรรูปเบื้องต้นให้เป็นข้าวพร้อมรับประทาน (Value product) อาจมีมูลค่าเพียง 30 - 40 บาท หากต้องการเพิ่มมูลค่าเพื่อการแข่งขัน และช่องทางการตลาดใหม่ ก็ต้องทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น (High value product) โดยการแปรรูปจากข้าวให้เป็น Rice Vinegar หรือ แปรรูปให้เป็น Protein bar ซึ่งตลาดยังเปิดกว้างเพราะเป็นอาหารให้พลังงานสูง สะดวกในการบริโภค เป็นการเพิ่ม segment ให้กับสินค้า และเพิ่มปริมาณการส่งออกจากวัตถุดิบที่จำกัด ซึ่งวัตถุดิบอาจแปรรูปเป็น Value product ร้อยละ 80 อีกร้อยละ 20 ทำเป็น High value product นั่นคือสิ่งที่สถาบันอาหารมองถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร
“อาหารไทยติดอันดับ 1 ใน 5 อาหารชั้นนำของโลก เพื่อเป็นการรักษาอันดับอาหารชั้นนำของโลกดังกล่าว ในปี 2559 สถาบันอาหาร จึงได้ทำในเรื่องของมาตรฐานอาหารไทย หรือ Authentic Thai Food for the World เพื่อรักษารสชาติที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งร้านอาหารไทยทั่วโลกสามารถใช้อ้างอิงได้ ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ผลิตซอสสำเร็จรูปอยู่แล้ว ซึ่งเราจะทำให้เป็นซอสมาตรฐานรสไทยแท้ การใช้ซอสปรุงรสมาตรฐานดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมบริการเรื่องมาตรฐานรสชาติได้มาก เรียกว่าแก้ปัญหาได้ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมบริการ และเป็นการรักษามาตรฐาน และขยายตลาดได้ด้วย”
นายยงวุฒิ กล่าวถึงการสร้าง Food warrior ว่า “ในอุตสาหกรรมอาหารมีผู้ประกอบการ 109,000 ราย เป็น SME ถึงร้อยละ 99.5 มีประมาณ 600 รายเท่านั้นที่ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และมีผู้ที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมอีกเกือบ 6 ล้านราย ซึ่งเราต้องติดอาวุธ ให้องค์ความรู้เทคโนโลยี และการตลาดให้คนกลุ่มนี้ จึงได้มีโครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ Food warrior มีเป้าหมายสร้างปีละ 1,750 คน ภายใน 20 ปี เราจะได้ Food warrior 35,000 คน Food warrior จะเข้ามาอยู่ในโครงการที่เรียกว่า World Food Valley Thailand เป็นลักษณะของประชารัฐ
เชิญชวนภาคเอกชนที่มีความพร้อมในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารเข้ามาร่วมโครงการในลักษณะ Big Brother โดยแบ่งที่ดินในนิคมฯ เป็น 2 ส่วน ที่ดินส่วนแรกร้อยละ 25 ต้องทำอาหารอนาคต Future Food ได้แก่ อาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic Foods) อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (Functional Foods and Drink) อาหารทางการแพทย์ (Medical Foods) และอาหารกลุ่มที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (Novel Foods) ซึ่งเป็น High value product ป้อนตลาดโลก ที่ดินส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 75 ให้เอกชนผู้ร่วมโครงการทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร แต่ร้อยละ 25 ของผลผลิตที่ได้ต้องนำไปทำ Value Chain ของ product เช่น ถ้านำที่ดินไปปลูกข้าว ผลผลิตข้าวที่ได้เป็นของเอกชนที่จะไปทำอะไรก็ได้ แต่ร้อยละ 25 ต้องไปทำ Rice Vinegar หรือ Protein bar เป็นต้น ทั้งนี้ภาครัฐจะให้การสนับสนุนเอกชนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ ในการสร้าง Pilot Plant และลดภาษีให้กับเอกชนผู้ร่วมโครงการ ในอัตราร้อยละ 200 ขณะนี้ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว”
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวในตอนท้ายว่า สถาบันอาหาร ยังได้จัดทำโครงการเพื่อเปิดตลาดโลก (Global Connection) ได้แก่ โครงการ Window of Thai Food เป็น One Stop Service เปิดให้ บายเออร์ เทรดเดอร์ มาใช้บริการ ประกอบด้วยการปรุงอาหารทดลองชิม อาหารปรุงสด Future Food เป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร การนำเข้า ส่งออก ภาษี ฯลฯ และจะไปทำที่สงขลาอีกแห่ง เพื่อช่วยผู้ประกอบการ 5 จังหวัดชายแดนใต้ และโครงการ World Food Expo เพื่อสนองตอบ Kitchen of the World ซึ่งนำอาหารไทยเข้าสู่อันดับที่ 13 ของโลกมาแล้ว จากนี้ต่อไปอีก 5 ปี ตนเชื่อว่าอุตสาหกรรมส่งออกอาหารไทยจะขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลกอย่างแน่นอน
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)