xs
xsm
sm
md
lg

มาดูกัน!! กิจวัตรประจำวันแต่ละอย่าง ช่วย “เบิร์น” ได้กี่แคลอรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัยออกมาเปิดเผยว่า คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้น โดยประชาชน 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ส่วนเด็กและวัยรุ่นกลับพบมากกว่า คือ 2 ใน 3 ที่มีกิจกรรมทางกายไม่พอ ทั้งที่วัยเด็กและวัยรุ่นควรมีกิจกรรมทางกายมากกว่าผู้ใหญ่ เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย

ข้อแนะนำในการมีกิจกรรมทางกาย ในประชาชนทั่วไปควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางสะสมให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ส่วนวัยเด็กและวัยรุ่นควรสะสมให้ได้ 60 นาทีต่อวัน โดยกิจกรรมที่ให้ความรู้สึกเหนื่อยปานกลาง เช่น การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน การทำงานบ้าน เป็นต้น โดยระหว่างที่ทำกิจกรรมยังสามารถพูดเป็นประโยคได้ มีเหงื่อซึมๆ หรือหากวัดอัตราการเต้นของหัวใจจะมีระดับชีพจรอยู่ที่ 120 - 150 ครั้งต่อนาทีนั่นเอง

แต่จากปัญหาไลฟ์สไตล์โดยเฉพาะคนเมืองที่ส่วนใหญ่จะนั่งทำงาน ลุกเคลื่อนไหวน้อย อย่างเช่น พนักงานออฟฟิศ การเดินทางเมื่อเผชิญรถติดก็ต้องนั่งอยู่บนรถเป็นเวลานาน ก็ยิ่งเสียโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น

บางคนบริหารจัดการเวลาได้ ก็สามารถไปออกกำลังกายตามที่สาธารณะหรือยิมต่างๆ เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น แต่สำหรับคนที่หาเวลาในการไปออกกำลังกายเช่นนี้ได้ยาก การใช้กิจวัตรประจำวันต่างๆ ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยเผาผลาญแคลอรีหรือเพิ่มกิจกรรมทางกายได้

คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำข้อมูลพลังงานที่ใช้ในแต่ละกิจกรรมทางกายไว้ โดยระบุว่า กิจกรรมแต่ละอย่างจะใช้พลังงานกิโลแคลอรีแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับระดับความหนักของกิจกรรมนั้นๆ และน้ำหนักตัว โดยผู้ที่มีน้ำหนักมากจะใช้พลังงานในการดำเนินกิจกรรมมากกว่าคนน้ำหนักน้อย รวมถึงระยะเวลาในการทำกิจกรรม

คราวนี้มาดูกันว่ากิจกรรมแต่ละอย่างช่วยเราเบิร์นแคลอรีออกไปมากน้อยแค่ไหน โดยค่าที่จะแสดงดังกล่าวเป็นค่าเฉลี่ยพลังงานในแต่ละกิจกรรมของคนปกติ น้ำหนัก 60 กิโลกรัม และเป็นพลังงานที่ใช้ (กิโลแคลอรี) ต่อ 1 ชั่วโมง

นอนหลับ ใช้พลังงาน 75 กิโลแคลอรี ลงนอน (ไม่หลับ) 85 กิโลแคลอรี นั่งดูโทรทัศน์ 100 กิโลแคลอรี นั่งทำงานใช้สมอง 110 กิโลแคลอรี เย็บผ้า 115 กิโลแคลอรี ล้างจาน 126 กิโลแคลอรี

ยืน ใช้พลังงาน 140 กิโลแคลอรี รีดผ้า 150 กิโลแคลอรี เดินช้า 150 กิโลแคลอรี ทำความสะอาดบ้าน 150-250 กิโลแคลอรี ทำกับข้าว 176 กิโลแคลอรี ปัดฝุ่น 191 กิโลแคลอรี

เดินเล่น ใช้พลังงาน 210 กิโลแคลอรี กวาดพื้น 225 กิโลแคลอรี ซักผ้าด้วยมือ 240 กิโลแคลอรี เช็ดถูบานหน้าต่าง 250 กิโลแคลอรี ทำสวน 250 กิโลแคลอรี ตัดหญ้า 250-300 กิโลแคลอรี

ปั่นจักรยาน ใช้พลังงาน 250-600 กิโลแคลอรี ว่ายน้ำ 260-750 กิโลแคลอรี เดินธรรมดา 300 กิโลแคลอรี ล้างรถ 300 กิโลแคลอรี เต้นแอโรบิก Low Impact 320 กิโลแคลอรี เต้นรำ 350 กิโลแคลอรี เต้นแอโรบิก Kigh Impact 406 กิโลแคลอรี เดินเร็ว 420-480 กิโลแคลอรี วิ่งเหยาะ 600-750 กิโลแคลอรี และเดินขึ้นบันได 600-1,080 กิโลแคลอรี

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวบางส่วนเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน โดยมีทั้งกิจกรรมที่เป็นแบบระดับเบา ปานกลาง และ หนัก ก็สามารถเลือกสรรในการนำมาช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายให้แก่ชีวิตประจำวันเราได้ จะได้ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งลง วึ่งการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากๆ จะนำมาซึ่งความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น