xs
xsm
sm
md
lg

สองปมใหญ่ทำ รพ.เกิดความรุนแรงง่ายขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพศท. ชี้ ความรุนแรงใน รพ. เพิ่มมากขึ้น เหตุมุมมอง “หมอ - ญาติ - คนไข้” เปลี่ยนจากความเคารพช่วยเหลือเป็น การบริการ เข้าออก รพ. ง่าย แนะปรับห้องฉุกเฉินเข้าออกยากขึ้น เหตุเป็นพื้นที่เกิดเรื่องมากสุด

วันนี้ (10 พ.ย.) ในสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงใน รพ. ทางออกคืออะไร” จัดโดยแพทยสภาเพื่อรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงใน รพ. นั้น ระยะหลังนี้เกิดมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น ปัญหาสำคัญคือสังคมไทยนิยมใช้ความรุนแรง ไม่ถูกใจ ไม่พอใจก็ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา และที่ทำให้เกิดความรุนแรงใน รพ. ได้ง่ายๆ ก็เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ญาติ กับบุคลากรทางการแพทย์เปลี่ยนจากการเคารพ ให้การช่วยเหลือไปเป็นเรื่องของการให้บริการ โดยผู้ป่วย ญาติก็มองว่าตัวเองคือผู้รับบริการ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์คือผู้ให้บริการ ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขในเรื่องนี้

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ โครงสร้างของ รพ. ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นฐานความเคารพกันและกันอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย ญาติมีความสะดวกในการเดินทาง พื้นที่โล่งเข้าออกได้หลายทาง ตรงนี้ก็ต้องปรับแก้เหมือนกัน แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น อาจจะเริ่มต้นที่ห้องฉุกเฉินก่อนก็ได้ เพราะเป็นสถานที่ที่เกิดความรุนแรงมากที่สุด ต้องกันคนที่ไม่เกี่ยวข้องให้อยู่ในนั้นน้อยที่สุด ซึ่งบางแห่งเริ่มทำไปแล้ว แต่บางแห่งทำยาก เพราะเรื่องของงบประมาณ และสถานที่คับแคบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็เริ่มซ้อมแผนรับมือกับเหตุความรุนแรง เพิ่มเติมจากการซ้อมแผนรับมือกับโรค ภัยสุขภาพต่างๆ ด้วย เพราะทุกวันนี้เมื่อเกิดเรื่องแล้ว บุคลากรไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร รวมทั้งเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้แจ้ง สอบถาม หรือร้องเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อลดความร้อนใจ

“ความรุนแรงใน รพ. มีทั้งรูปแบบที่ผู้ป่วย ญาติ ทำความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์ และกรณีที่ประชาชนด้วยกันเองมาสร้างความรุนแรงใน รพ. ซึ่งเกิดจากการไม่เคารพสถานที่ ถ้าประชาชนรู้ว่าสถานพยาบาลคืออะไร เขาจะไม่สร้างความรุนแรง และอีกอย่างคือ เมื่อทำผิดก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ในแง่ของการให้อภัยนั้น เราให้อภัยได้อยู่แล้ว แต่เรื่องของกฎหมายก็ต้องดำเนินต่อไป เหมือนต่างประเทศจะใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ที่จีน พยาบาลโดนคนเมาต่อยจะถูกจำคุก 4 เดือน ของไทยตอนนี้ยกกระเช้ามาขอโทษก็จบ” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีการรายงานผลการสำรวจความเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์ เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงในสถานพยาบาลในปี 2559 พบว่า มีการกระทำความรุนแรงต่อบุคลากรสาธารณสุขทางวาจามากที่สุดร้อยละ 91 กระทำความรุนแรงผ่านสื่อสาธารณะ โซเชียลมีเดีย ร้อยละ 74 ทำความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 43 ซึ่งโดยรวมมีผลต่อการทำงานมากถึงร้อยละ 68 และมากกว่าร้อยละ 50 เกิดจากผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย
กำลังโหลดความคิดเห็น