รพ.มงกุฎวัฒนะ ออกประกาศแจงผู้ป่วยส่อวืดผ่าตัดหัวใจฟรีตามสิทธิบัตรทอง ต้นเหตุมาจาก สปสช. ออกเกณฑ์ทำ รพ. ในระบบบัตรทอง ต้องขาดคุณสมบัติให้บริการไม่ได้ ซัดปัญหาในระบบบัตรทอง ส่วนหนึ่งมาจากการบริหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้ออกประกาศเรื่อง ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดย สปสช. โดยมีการแจกเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาล เพื่อทำความเข้าใจกรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อการรักษาเฉพาะด้านโรคหัวใจ โดยให้เหตุผลว่า สปสช. ออกกฎเกณฑ์เพื่อใช้ประเมินโรงพยาบาลที่เป็น “หน่วยนอกระบบบัตรทอง” ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านในการรักษาโรคหัวใจ ทั้งการใส่สายสวนหัวใจและการผ่าตัดนั้น ต้องมีศัลยแพทย์หัวใจประจำระหว่างวันเวลาราชการ คือ จันทร์ถึงศุกร์ เวลา 08.00 - 16.00 น. และนำกฎเกณฑ์มาใช้กับหน่วยบริการประจำซึ่งเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะ เป็นหน่วยบริการประจำ มีศัลยแพทย์หัวใจหมุนเวียนรับผิดชอบตามตารางเวรทุกวัน 24 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่วันเวลาราชการ 5 วันๆ ละ 8 ชั่วโมง
การนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้กับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ทำให้ รพ. ขาดคุณสมบัติ ทั้งที่ รพ. ไม่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านหัวใจ เพราะเป็นหน่วยบริการประจำที่ต้องรักษาทุกโรคอยู่แล้ว และต้องการรักษาผู้ป่วยในความรับผิดชอบเกือบ 2 แสนคน โดยผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา ซึ่งการรับส่งต่อภาระก็จะมากขึ้น ขาดทุนเพิ่มมากขึ้น แต่ สปสช. กล่าวอ้างว่า หาก รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านการทำหัตถการรักษาผ่านสายสวน และการผ่าตัดโรคหัวใจจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้ หมายความว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจะต้องจ่ายค่ารักษาในการสวนหัวใจหรือผ่าตัดหัวใจเอง ทั้งที่เป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นการเจ็บป่วยที่มีอัตราการตายสูง ขณะที่ สปสช. ก็ยังขาดแคลนหน่วยบริการส่งต่อเฉพาะด้าน แต่กลับออกกฎเกณฑ์ที่ทำให้หน่วยบริการประจำที่มีขดความสามารถอยู่แล้วต้องขาดคุณสมบัติ จนทำให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองต้องจ่ายค่ารักษาเอง เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจากการสร้างกฎเกณฑ์ของ สปสช. เอง
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวยังระบุว่า รพ.มงกุฎวัฒนะได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ สปสช. เพื่อให้ยุติมาตรการบังคับหน่วยบริการประจำแล้ว และแจ้งให้ทราบว่ามาตรการดังกล่าวอาจทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีนำไปเป็นประเด็นบั่นทอนรัฐบาลว่าลิดรอนสิทธิผู้ป่วยบัตรทอง และย้ำว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบบัตรทองมิได้เกิดจากความจำกัดของงบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียว แต่เหตุปัจจัยสำคัญยิ่งประการหนึ่งเกิดขึ้นจากหน่วยงาน สปสช. เอง
ด้าน นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการพูดคุยเรื่องนี้กับ สปสช. จริง แต่เป็นลักษณะที่ตนเป็นฝ่ายเข้าไปพบกับเลขาธิการ สปสช. เพื่อสะท้อนปัญหา ซึ่งก็เห็นด้วยกับตน แล้วมีการส่งเจ้าหน้าที่มาคุยกับตนอีกรอบก็เห็นด้วยอีก แต่กลับออกเกณฑ์มาในลักษณะนี้และเป็นปัญหา ทั้งที่จริงแล้วควรบังคับใช้กับรพ.นอกระบบที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะทางด้านนี้ ซึ่งขอยืนยันว่าที่ออกเกณฑ์ให้มีศัลยแพทย์หัวใจประจำ 1 คน นั้น ที่ รพ. ตนมีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้หมุนเวียนกันตลอด 24 ชั่วโมง ตามระบบเวร และแต่ละชั่วโมงมีมากถึง 3 คน อย่างไรก็ตามทราบว่ามีการประชุมผู้บริหาร สปสช. ในวันที่ 21 ก.ย. นี้ หากเป็นไปได้ตนก็อยากให้มีการทบทวนเรื่องนี้ใหม่ และถ้าเป้นไปได้อยากจะขอเข้าไปชี้แจงให้ รมว.สาธารณสุข ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เชิญมาเมื่อไหร่ตนก็พร้อมจะไปทันที
“รพ. ผมเป็น รพ. ที่ขึ้นทะเบียนรักษาได้ทุกโรค และรักษาโรคหัวใจมานาน การออกแบบนี้ทำให้ต่อไปนี้รักษาโรคหัวใจไม่ได้อย่างนั้นหรือ แม้จะมีหมอทางด้านนี้ที่เก่งมากก็ตาม เรื่องนี้ทำให้เข็ดขยาดมาก ทั้งๆ ที่มีผู้ป่วยในระบบจำนวนมาก และก็เพิ่งรับผู้ป่วยที่เพิ่งถูกลอยแพมาจาก รพ. เอกชนอื่นๆ ที่ขออกจากระบบบัตรทองไป ถ้าต่อจากนี้การจะรับผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งต่อมาแล้วต้องขึ้นทะเบียนมีเกณฑ์ที่ยุ่งยากขนาดนี้” นพ.เหรียญทอง กล่าว