xs
xsm
sm
md
lg

BDMS จัดบริการร่วมลดความสูญเสีย “อุบัติเหตุ” ในประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งร่างกาย จิตใจ ไปจนถึงทรัพย์สิน ที่น่าห่วงคือ แม้อุบัติเหตุจะไม่รุนแรง แต่หากกระทบถูกจุดที่สำคัญ ก็อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่หากมีระบบบริการช่วยเหลือที่รวดเร็วพอ โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยก็ย่อมมีมากขึ้น

สำหรับอุบัติการณ์ของ “อุบัติเหตุ” ในประเทศไทย นายแพทย์ สุทร บวรรัตนเวช ผู้อำนวยการใหญ่ ศูนย์อุบัติเหตุและออร์โธปิดิกส์ ในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และ ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า การเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยแบ่งได้ออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

1. การเกิดอุบัติเหตุทางถนนหรือการจราจร ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดในเอเชีย และสูงเป็นอันดับสองของโลก โดยข้อมูลเมื่อปี 2556 ประเทศไทยเสียชีวิตถึง 14,000 ราย เฉลี่ย 30 นาทีเสียชีวิต 1 คน แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะรถจักรยานยนต์พบว่า ประเทศไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มากที่สุดในโลกประมาณ 5,500 คนต่อปี

2. การเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นมวลกระดูกของร่างกายจะลดลง โดยผู้หญิงมวลกระดูกจะเริ่มลดลงเมื่อหมดประจำเดือน หรือช่วงอายุประมาณ 60-65 ปี ส่วนผู้ชายจะเริ่มมีปัญหาช่วงอายุ 70-75 ปี ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้มทำให้กระดูกหักได้ง่าย ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุ 1 ใน 3 จะประสบปัญหากระดูกหัก ยิ่งหากเกิดบริเวณที่สะโพก โอกาสเสียชีวิตยิ่งมีสูงขึ้น โดยอัตราเสียชีวิตในผู้ชายจะสูงกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายมีปัญหากระดูกพรุนหรือกระดูกบางในช่วงวัยที่มากกว่าหรือสูงอายุกว่า เมื่อเกิดปัญหาหกล้มกระดูกหักจึงมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงกว่า

และ 3. การเล่นกีฬา ซึ่งการเล่นกีฬาถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัจจุบันแนวโน้มของการเล่นกีฬาจะเป็นไปในแนวเอ็กซ์ตรีมมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้นเช่นกัน หรือการเล่นกีฬาที่มีการกดทับของน้ำหนักมากๆ ก็จะยิ่งทำให้ข้อต่างๆ เสื่อมไวขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บต่างๆ ต่อร่างกายก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

การแก้ปัญหาอุบัติเหตุของประเทศไทย นายแพทย์ สุทร กล่าวว่า ต้องเริ่มตั้งแต่การป้องกันก่อน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ดีที่สุด โดยในส่วนของอุบัติเหตุทางถนน สาเหตุสำคัญมาจากการไม่สวมหมวกกันน็อค การไม่คาดเข็ดขัดนิรภัย รวมไปถึงการขับรถเร็ว และการเมาแล้วขับ ดังนั้น หากสามารถรณรงค์และลดพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ลงได้ ขับรถอย่างมีวินัย ก็จะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้แน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของวินัยต้องฝึกสร้างตั้งแต่เด็ก

ส่วนการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ เนื่องจากภาวะกระดูกบางจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกบางหรือไม่ ทำให้ไม่มีการมาตรวจวัดมวลกระดูกว่าเป็นอย่างไร จะมาพบแพทย์ก็เมื่อเกิดปัญหากระดูกหักแล้ว ซึ่งกระดูกเป็นอาการที่บ่งบอกถึงภาวะกระดูกที่บางลง นอกจากนี้ พบว่า ผู้สูงอายุที่เคยกระดูกหักแล้ว ภายใน 2 - 3 ปี จะประสบปัญหากระดูกหักอีก สาเหตุหลักๆ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่ทำให้เกิดการสะดุดล้มได้ง่าย และการทรงตัวที่ไม่ดีพอ ดังนั้น การป้องกันคือ อาจต้องมีการตรวจวัดมวลกระดูกเพื่อให้ทราบว่ามีภาวะกระดูกบางหรือไม่ และต้องระมัดระวังตัวเอง ปรับสิ่งแวดล้อมภายในบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการหกล้ม ซึ่งโรงพยาบาลกลุ่ม BDMS มีการให้บริการเรื่องของเวชศาสตร์ผู้สูงวัยโดยเฉพาะ รวมถึงกายภาพบำบัด และบริการฝึกการทรงตัว เพื่อลดความเสี่ยงในการสะดุดหกล้ม หรือลดการกระดูกหักครั้งที่สองได้ ซึ่งนับเป็นการช่วยลดความสูญเสียที่จะตามมาจากการเกิดอุบัติเหตุ” นายแพทย์ สุทร กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว โรงพยาบาลกลุ่ม BDMS ก็พร้อมให้บริการดูแล ซึ่ง นายแพทย์ สุทร ย้ำว่า การจัดระบบบริการที่มีความรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตหรือพิการลงได้ เนื่องจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลำดับแรกคือ การเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือได้ แต่การเสียชีวิตระหว่างการขนส่งหรือรอแพทย์รักษา ตรงนี้สามารถจัดบริการเพื่อลดโอกาสเสียชีวิตในจุดนี้ลงได้ โดยโรงพยาบาลกลุ่ม BMDS มีการจัดตั้ง “เครือข่ายรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุ (BDMS Trauma Care Network)” ในด้านการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งครอบคลุมทั่วทั้งประเทศและบริการอย่างครบวงจรตามมาตรฐานสากล โดยมีศูนย์ BDMS Alarm Center ในการรับแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทำให้สามารถจัดทีมแพทย์ฉุกเฉินออกไปรับตัวผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ตรงกับการเจ็บป่วยของผู้ป่วยมากที่สุด สามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้นได้

“และระหว่างการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ก็จะมีการประสานงาน เพื่อส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยตามความรุนแรงของอุบัติเหตุและใกล้ผู้ป่วยมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยจะศัลยแพทย์เป็นหัวหน้าทีมในการแบ่งขั้นตอนการรักษาตามอาการของผู้ป่วย โดยเริ่มรักษาจากอาการที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตของผู้ป่วยมากที่สุดก่อน เช่น เกิดภาวะช็อก เป็นต้น และเมื่อทำการรักษาเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการฟื้นฟูสภาพร่างกายต่อไป” นายแพทย์ สุทร กล่าว

นอกจากการจัดระบบริการเพื่อลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนแล้ว โรงพยาบาลกลุ่ม BDMS ยังจัดระบบบริการเฉพาะเพื่อลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุด้วย โดย นายแพทย์ สุทร เล่าว่า โดยปกติเมื่อผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุหกล้ม กระดูกหัก การรักษาจะเป็นด้วยความยากลำบาก เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวหลายอย่าง การจะรักษาหรือการผ่าตัดช่วยเหลือผู้สูงอายุจะต้องปรึกษาหรือได้รับความเห็นจากแพทย์ด้านต่างๆ ที่ดูแลผู้สูงอายุก่อน เช่น อายุรแพทย์ด้านเบาหวาน ไต หัวใจ เป็นต้น ทำให้กว่าจะได้ความเห็นหรือข้อสรุปว่าจะรักษาผู้ป่วยอย่างไร ก็ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคอย จนเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา และทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ ซึ่งไม่ใช่การเสียชีวิตจากกระดูกหัก แต่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคประจำตัวต่างๆ

โรงพยาบาลกลุ่ม BDMS เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงจัดการประชุมทีมแพทย์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุ และลงความเห็นกันว่าผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวนั้นนี้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุกระดูกหักส่วนนั้นนี้ในร่างกาย จะต้องเริ่มดูแลรักษาอย่างไรก่อน ซึ่งใช้เวลา 2 ปีในการจัดทำข้อสรุปออกมาเป็นไกด์ไลน์หรือโปรโตคอลในการดูแลผู้สูงอายุเมื่อเกิดกระดูกหักโดยเฉพาะ ทำให้ผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุเข้ามารักษา เมื่อทำการเช็กลิสต์อาการต่างๆ แล้วก็จะได้ข้อสรุปทันทีว่า จะต้องดำเนินการสิ่งใดก่อนหลัง ควรให้ยาอะไร พร้อมผ่าตัดแล้วหรือไม่ หลังรักษาเสร็จแล้วกายภาพต้องทำอะไรอย่างไร เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอนาน ลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุกระดูกหัก ซึ่งโปรโตคอลดังกล่าว โรงพยาบาล BDMS ดำเนินการมาแล้ว 3 - 4 ปี” นายแพทย์ สุทร กล่าว

นายแพทย์ สุทร เล่าว่า โปรโตคอลดูแลผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะไม่ต้องรอเวลาในการประชุมแพทย์ที่เกี่ยวข้อง แต่แพทย์สามารถทำตามขั้นตอนที่วางไว้ได้เลย ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา 3-4 ปี ดูแลคนไข้สูงอายุแล้วกว่า 200 คน พบว่า เคสผ่าตัดทั้งหมดไม่มีผู้ใดเสียชีวิตใน 28 วันตามข้อกำหนดสากล ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าสามารถผ่าตัดดูแลรักษาได้ดี ไม่เกิดข้อผิดพลาดจากการผ่าตัด

“นับว่าการวางระบบและจัดบริการทั้งหมดดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งที่โรงพยาบาลกลุ่ม BDMS ตั้งใจที่จะร่วมช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุของประเทศไทย โดยให้การดูแลที่มีคุณภาพและมาตรฐาน” นายแพทย์ สุทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น