สำรวจพบผู้สูงอายุกินยาต่อเนื่องไม่ถูกต้องถึง 47% แถมสายตาแย่ทำใช้ยาผิดมากขึ้น ห่วงขายยาสมุนไพร ยาลูกกลอน เจอสารสเตียรอยด์ทำกระดูกพรุน ส่งผลตับ ไต จัดงานรณรงค์สัปดาห์เภสัชฯ ส่งเสริมตระหนักการใช้ยา
ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม แถลงข่าวรณรงค์สัปดาห์เภสัชฯ 2559 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม ว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อทำงานเชิงรุกให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้ยา ประกอบกับขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องเน้นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุเป็นหลัก ทำให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ยา เพราะผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทำให้มีการใช้ยามากกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้น เภสัชฯ จึงมีหน้าที่สำคัญในการดูแลให้ความรู้ประชาชน
ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากผลการวิจัยการค้นหาปัญหาด้านยาจากการออกเยี่ยมบ้าน โดยกลุ่มเภสัชฯ ครอบครัวระหว่างปี 2556 - 2557 ในเขตจตุจักร คือ แขวงจอมพล จันทรเกษม และ เสนานิคม จำนวน 1,019 คน ในกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ทั้งโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ และเบาหวาน ที่มีการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 47.1 ใช้ยาไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าผู้สูงวัยร้อยละ 54 มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ร้อยละ 25 มีปัญหาการได้ยิน ร้อยละ 20 มีปัญหาสายตา และร้อยละ 1 มีปัญหาอื่น ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้ยา เช่น ปัญหาสายตาทำให้ไม่สามารถอ่านฉลากยาได้ จึงรับประทานยาตามความเคยชิน ซึ่งอาจได้ขนาดยาไม่ถูกต้อง กล้ามเนื้อมีความอ่อนแรงไม่สามารถฉีกแผงยา หรือหยิบยาเข้าปากได้ บางรายมีปัญหาด้านความจำ ทำให้ใช้ยาผิด เป็นต้น ดังนั้น เภสัชฯจึงมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลความรู้ เพราะหากผู้สูงอายุรับประทานยาผิด หรือเกินขนาด นอกจากไม่หายจากโรคแล้ว ยังจะส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้น จนบางรายเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาตามมาอีกด้วย
ดร.ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาเรื่องยาที่น่ากังวล คือ เรื่องของยาสมุนไพร โดยเฉพาะยาลูกกลอนตามร้านขายของชำ หรือ รถเร่ ที่พบว่า มีการผสมยาสเตียรอยด์ ซึ่งหากรับประทานเข้าไปมาก ๆ ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย และมีอันตรายต่อร่างกาย ทั้ง ทำให้กระดูกพรุน มีผลต่อตับและไต ดังนั้น เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือในการป้องกันและให้ความรู้ว่าอะไรควรรับประทาน หรือไม่ควรรับประทาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่บางครั้งอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่