xs
xsm
sm
md
lg

ฝึกปรือโลกการเขียนให้ลูกแบบไม่ตั้งใจฝึก ! /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ในระยะหลังดิฉันมักจะนำบทความของลูกชาย 2 คน วัย 17 ปี และ 19 ปี มาลงสลับในคอลัมน์นี้เป็นระยะๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อแบ่งปันมุมมองของวัยรุ่นที่เป็นผลผลิตของสังคมยุคนี้ว่ามีความคิดเห็นหรือความคิดความอ่านต่อประสบการณ์ในช่วงชีวิตของเขาอย่างไร เพราะบางมุมก็น่าจะเป็นกระจกสะท้อนให้กับผู้ใหญ่อย่างเราไม่น้อย

ส่วนเรื่องการฝึกปรือที่มีเพื่อนถามไถ่ว่าทำไมเขาเขียนได้ ทำไมเขาเขียนเก่ง คุณแม่โชคดีจัง หรือแม้แต่ถามทคนิคว่าทำอย่างไรถึงจะให้ลูกเขียนหนังสือได้แบบนี้บ้าง

ความจริงดิฉันไม่ได้มีเทคนิคใดๆ เป็นพิเศษ ถ้าจะมีบ้างและเชื่อว่าน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เขาเขียนและถ่ายทอดออกมาได้ ก็เห็นจะเป็นเรื่องที่เพียรทำมาตั้งแต่เมื่อครั้งพวกเขายังเล็ก !

เพราะสิ่งที่ครอบครัวเราไม่เคยขาดเลย คือ อุปกรณ์ประเภทกระดาษ สมุด ดินสอ ปากกา สี หนังสือนิทาน เป็นสิ่งที่ดิฉันพกติดตัวมาตั้งแต่เขาทั้งสองยังอยู่ในวัยแบเบาะกันเลยทีเดียว เรียกว่าไม่ว่าจะไปที่ไหนเมื่อไหร่ ไม่ว่าใกล้หรือไกล จะข้ามน้ำข้ามทะเลด้วยยานพาหนะใดๆ หรือแม้แต่ในยามคับขัน ก็จะมีกระเป๋าอุปกรณ์เหล่านี้พกไปด้วยเสมอ และจะหยิบใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

บางสถานการณ์ก็เล่านิทานให้ลูกฟัง บางสถานการณ์ก็ยื่นอุปกรณ์วาดรูปให้พวกเขา เรียกว่า บางขณะที่เขาต้องรอพ่อแม่ทำงาน หรืออยู่ในร้านอาหารขณะรออาหาร หรือมีความจำเป็นต้องรอกิจกรรมชั่วขณะมากหรือน้อย ก็จะมีอุปกรณ์ให้ทั้งสองคน สร้างสรรค์จินตนาการ จนเขารับรู้และกลายเป็นกิจกรรมปกติของเขา

จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มกิจกรรมฝึกให้เขียนไดอารี่เมื่อเขาเริ่มจับดินสอได้ แรกเริ่มจากการวาดรูปเล่าเรื่อง โดยไม่ได้จริงจังว่ารูปต้องเหมือนหรือไม่ เพราะภาพที่เขาวาดขยุกขยุยภาพเดียว แต่เขาสามารถเล่าเป็นเรื่องเป็นราวได้ จนกระทั่งเมื่อเขาเริ่มเขียนหนังสือได้ ก็เริ่มให้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านความรู้สึกว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อไปที่นั่นที่นี่มา และก็ค่อยๆ ขยับเรื่องราวให้มีรายละเอียดมากขึ้น

เมื่อโตขึ้นก็ให้ขยับจากความรู้สึกเป็นความคิดเห็นว่าเขาคิดเห็นอย่างไร จนเขารับรู้ว่าการเขียนไดอารี่เป็นเรื่องปกติวิสัย

และสิ่งเหล่านี้นั่นแหละที่ดิฉันเชื่อว่ามีส่วนต่อการช่วยให้เขามั่นใจในการเขียน การแสดงความคิดเห็น การถ่ายทอดในมุมมองของพวกเขาเมื่อผ่านเรื่องราวต่างๆ

ทั้งหมดนี้เป็นการฝึกปรือแบบไม่ได้ตั้งใจฝึก..!

แต่เป็นการช่วยให้เขารู้จักอารมณ์ความรู้สึกจากสิ่งรอบตัว และช่วยกระตุ้นให้เขาได้ลำดับความคิด เป็นการกระตุ้นให้คิด ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของคนเป็นพ่อแม่ที่ควรทำหน้าที่โค้ชที่เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้เขาได้รู้จักตัวเอง และนำศักยภาพที่มีอยู่มาพัฒนาตัวเอง มิใช่การชี้นำชีวิตให้ลูกเดิน

ฉะนั้น เมื่อลูกยังเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปฐมวัยอย่าปล่อยให้วันเวลาลอยนวล แต่พ่อแม่ควรจะเป็นตัวช่วยและสนับสนุนให้ลูกได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่มีความหลากหลาย หรือเป็นผู้กระตุ้นให้ลูกเปิดการเรียนรู้

ยกตัวอย่าง ถ้าลูกเกิดคำถาม ก็ควรฝึกให้ลูกคิดหลายๆ แง่มุม ยิ่งถ้าเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยช่างซักช่างถาม ต้องเปิดโอกาสให้ลูกเป็นเจ้าหนูทำไม และพ่อแม่ก็อย่าขี้เกียจตอบ พยายามตอบให้ได้มากที่สุด และคำตอบก็ควรจะเป็นลักษณะถามลูกว่าแล้วลูกคิดอย่างไร เพื่อช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้คิดต่อ ที่สำคัญ บางคำถามสามารถมีหลายคำตอบได้ ก็ชวนให้ลูกคิดตาม

ประการต่อมา ควรฝึกให้ลูกมีจินตนาการ สามารถเริ่มได้ตั้งแต่แรกเกิด วิธีที่ง่ายที่สุด พ่อแม่ควรอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ สังเกตว่า ลูกใส่ใจสิ่งใดก็ควรสนับสนุนหรือพาลูกไปเรียนรู้จากของจริง และพยายามหมั่นถามว่าสิ่งที่ลูกจินตนาการคืออะไร ช่วยกระตุ้นด้วยการตั้งคำถาม อาจให้เขาถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดก็ได้ หรือถ้าเขียนได้ก็ให้ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ

สุดท้าย ต้องสร้างแรงจูงใจที่ดีให้กับลูก ให้เขาได้มีความพยายามในการคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ พ่อแม่อาจตั้งเป้าหมายเล็กๆ ให้เหมาะกับวัย และเมื่อเขาสามารถทำได้ก็ให้รางวัลด้วยการโอบกอด ชื่นชม ก็จะทำให้เขารู้สึกดีที่สามารถทำได้

การชวนเด็กคุย และเงี่ยหูฟังคำตอบของเด็กๆ เป็นกิจกรรมน่าสนุกที่อยากชวนพ่อแม่ลองฟังเสียงลูกๆ แสดงความคิดเห็น จะรู้ว่ามีความคิดที่น่าสนใจมากมาย ที่บางทีถ้าเราฟังแบบไม่สนใจเราก็อาจจะเสียโอกาสในการฟังโลกแห่งจินตนาการของลูก อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่นั่นคือโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์ของเขา ขณะเดียวกัน เด็กบางคนก็ชอบที่จะถ่ายทอดผ่านภาพวาด หรือผ่านการเขียนก็ได้ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตุ และเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำ ลองคิด ลองเขียนในแบบของเขา
เชื่อเถอะค่ะว่า บางทีเมื่อเราได้ฟังหรือได้อ่านโลกจินตนาการของลูก แล้วเราจะเข้าใจว่าลูกเรามีความคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร สนใจสิ่งใด และเราอาจจะประหลาดใจเมื่อพบว่าโลกแห่งจินตนาการของเขาน่าทึ่งกว่าที่เราคิด

อย่าลืมว่า ผลของต้นไม้จะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการดูแลใส่ใจ รดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยฉันใด ผลผลิตของลูกที่จะเติบโตมาอย่างไร พ่อแม่ก็ต้องกลับไปดูตั้งแต่การเลี้ยงดู ความใส่ใจ และส่งเสริมศักยภาพของลูกมาอย่างไรด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น