xs
xsm
sm
md
lg

จับตาร่าง กม.คุ้มครองแรงงาน หวั่นปรับลดวันชดเชยเลิกจ้าง 400 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาองค์การลูกจ้างฯ ย้ำ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ยังไม่ประกาศใช้ จับตาการพิจารณาในชั้น สนช. หวั่นมีการปรับวันชดเชยเลิกจ้างจาก 400 วันลง

วันนี้ (16 ส.ค.) นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่เห็นความสำคัญและร่วมผลักดันกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านความเห็นชอบของ ครม. แต่กฎหมายยังไม่ได้ประกาศใช้ โดยขั้นตอนเมื่อ ครม. เห็นชอบแล้วต้องส่งให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจสอบก่อนจะนำเข้า ครม. อีกครั้ง และเสนอเข้าไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งก็จะมีนายจ้าง ผู้ใช้แรงงาน กระทรวงแรงงาน มาร่วมกัน

“ประเด็นนี้น่าติดตาม คือ กังวลว่าจะมีการต่อรองในส่วนกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 400 วัน รวมทั้งกรณีลากิจได้ค่าจ้าง 3 วัน ซึ่งต้องติดตามว่าจะต่อรองให้น้อยลงหรือไม่ เพราะคนทำงาน 10 ปีขึ้นไป จะได้ค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง 300 วัน ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป ดังนั้น จึงขอให้ลูกจ้างช่วยกันจับตามองประเด็นดังกล่าว” นายมนัส กล่าว

อนึ่ง สำหรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ประเด็นที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่ผู้ใช้แรงงานเสนอนั้น อาทิ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 โดยกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอดบุตร เพิ่มเติมนอกเหนือจากลาเพื่อคลอดบุตร เพิ่มมาตรา 55/1 โดยกำหนดให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วัน แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 59 โดยกำหนดให้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอดบุตร และ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 118 โดยกำหนดอัตราค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น