กรมสุขภาพจิต แนะ “ลูกหลาน” กลับบ้าน ช่วยสร้างพลังใจแม่ประสบภัยน้ำท่วม คลี่คลายทุกข์ สร้างความมั่นคงชีวิต ขอทำจิตใจให้เข้มแข็งเป็นแบบอย่าง พร้อมถือโอกาสซ่อมแซมบ้านเรือน
วันนี้ (11 ส.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีพื้นที่ 44 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม มีประชาชนได้รับผลกระทบ 580,352 ครัวเรือน แม้สถานการณ์คลี่คลายแล้วก็ยังเหลือ 8 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงหยุดยาววันแม่แห่งชาติปีนี้ ลูกหลานที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาไปกราบแม่ และอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะเป็นยารักษาใจ คลี่คลายทุกข์ คลายความกังวล ให้แก่ผู้ประสบภัยได้อย่างดีที่สุด เนื่องจากเมื่อคนเราประสบภัยโดยทั่วไป ก็มักจะต้องการความมั่นคงทางร่างกายและจิตใจเป็นลำดับแรกๆ
“ขอให้ประชาชนและลูกหลานที่กลับบ้านที่ภูมิลำเนาที่ประสบภัยน้ำท่วม ช่วยกันให้กำลังใจคนในครอบครัวและเครือญาติ ขอให้ตั้งสติรับฟังปัญหาความทุกข์ใจของผู้ประสบภัยและเป็นเสาหลักแบบอย่างที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ควรแสดงความเสียใจเพื่อให้ผู้ประสบภัยเกิดความเสียใจซ้ำอีก ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประสบภัยเกิดความรู้สึกมั่นคงอบอุ่น ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองอยู่อย่างเดียวดายไร้ค่า และจะเกิดพลังใจที่เข้มแข็งมีความหวัง พร้อมจะรับมือเหตุการณ์ในอนาคตหากมีเกิดซ้ำ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ลูกหลานผู้ประสบภัยก็สามารถดูแลจิตใจซึ่งกันและกันด้วยหลัก 3 ส. คือ 1. สอดส่องสังเกตพฤติกรรมของคนใกล้ชิดที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีอาการเหม่อลอย ไม่ร่าเริงสดใส เก็บตัวไม่สุงสิงกับผู้อื่นเหมือนเคย 2. ใส่ใจรับฟัง เพื่อให้เขาระบายความในใจออกมาให้ได้มากที่สุด สื่อสารด้วยภาษากาย เช่น การโอบกอด การสัมผัส เพื่อปลอบขวัญ ปลอบโยน และ 3. ส่งต่อไปยังผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญกว่าเรา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมแก้ไขฟื้นฟูจิตใจและรับการช่วยเหลือต่อไป หากเห็นว่าเมื่อพูดคุย ปลอบใจแล้ว พฤติกรรมยังไม่ดีขึ้น
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า นอกจากนี้ ลูกหลานอาจถือโอกาสที่กลับมากราบแม่ครั้งนี้ ร่วมกันทำความสะอาด ซ่อมแซมบ้านเรือน ปรับปรุงคอกสัตว์เลี้ยงต่างๆ และทานอาหารร่วมกัน จะทำให้ผู้ประสบภัยรู้สึกภาคภูมิใจและสบายใจได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งการไปวัดทำบุญ ก็อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้พบปะกันพูดคุยกัน ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน เนื่องจากวัดเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านอยู่แล้ว สำหรับผลการดูแลฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยในจังหวัดนครพนมและสกลนครภายหลังน้ำลด ทีมจิตแพทย์เอ็มแคทได้ทำการตรวจคัดกรองความเครียดประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยไปแล้วกว่า 4,000 คน พบผู้ที่มีความเครียดในระดับรุนแรง ต้องให้การดูแลรักษาใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษจำนวน 110 คน โดยอยู่ที่สกลนคร 100 คน และที่นครพนม 10 คน เพื่อป้องกันไม่เกิดอาการซึมเศร้าซึ่งจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้ง่ายซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะติดตามอาการครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 นี้