สบส. ตั้งทีมมอนิเตอร์คลินิกโฆษณาเสริมความงามผ่านโซเชียล ชี้ มักใช้ข้อความ รูปภาพโอ้อวดเกินจริง เตือนวัยรุ่นอย่าหลงเชื่อยอดวิว ยอดไลก์ เสี่ยงหน้าเน่าแทนหน้าสวย
วันนี้ (9 ส.ค.) นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสความสวย ความงามแบบหนุ่ม - สาวเกาหลี เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยผ่านสื่อหลากหลายแขนง ส่งผลให้เกิดการปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติในกลุ่มวัยรุ่น ว่า คนหล่อ คนสวย ต้องมีรูปร่างผอมเพรียว ดวงตาโต รูปจมูกปลายคม โครงหน้าเล็กในรูปแบบเกาหลีเท่านั้น ทำให้มีผู้ตัดสินใจเข้ารับบริการศัลยกรรม หรือเสริมความงามจากสถานพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเลือกรับบริการเสริมความงามจากสถานพยาบาลเอกชนเพียงเพราะคำบอกเล่าปากต่อปากว่าดี หรือการรับชมโฆษณาผ่านสื่อแขนงต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ทั้งเฟซบุ๊ก และ ไลน์ ซึ่งมักจะใช้ข้อความ หรือรูปภาพโฆษณาโอ้อวดเกินจริง อาทิ ดีที่สุด, แห่งแรก, แห่งเดียวในโลก, ราคาถูกที่สุด, หายขาด, รับรองผล 100 เปอร์เซ็นต์ หรือการใช้ภาพเปรียบเทียบผลลัพธ์ก่อนและหลังรับบริการ ฯลฯ ในการโฆษณาเพื่อเพิ่มยอดการเข้าชมหรือยอดไลก์ให้ดูน่าเชื่อถือ
“เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย และป้องปราม มิให้สถานพยาบาลมีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค จึงได้มอบหมายให้กองกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นด่านหน้า จัดทีมเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณาของสถานพยาบาลหรือคลินิกเสริมความงามในสื่อทุกประเภท โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งจากผลการสำรวจในปี 2559 มีประชากรไทยกว่า 38 ล้านคน ที่ใช้งานสื่อโซเชียล และในจำนวนนี้ร้อยละ 86 มีการใช้งานเป็นประจำทุกวัน จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจนตกเป็นเหยื่อของสถานพยาบาลเถื่อน หมอเถื่อน และได้รับการเสริมความงามที่ไร้คุณภาพ มาตรฐาน จนเกิดผลข้างเคียงทั้งใบหน้าผิดรูป แผลเน่า หรือได้รับแผลเป็นแทนที่ความสวย หล่อตามที่มุ่งหวัง” นพ.วิศิษฎ์ กล่าว
นายดนัย สุวรรณา ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สบส. กล่าวว่า ขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมาย คือ พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 พ.ศ. 2546 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโฆษณาสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด สถานพยาบาลเอกชนแห่งใดมีการโฆษณาเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้ประชาชนเข้ารับบริการกับตนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา และการโฆษณาสถานพยาบาลไม่ว่ากรณีใด ต้องได้รับการอนุมัติก่อนจึงจะสามารถเผยแพร่ได้ โดยสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ ให้ขออนุมัติจากกรม สบส. และส่วนภูมิภาคให้ขออนุมัติที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
"หากสถานพยาบาลใดโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา และหากประชาชนพบ หรือสงสัยการโฆษณาของสถานพยาบาล สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เฟซบุ๊ก “มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน” หรือที่กองกฎหมาย กรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18830 ในวันและเวลาราชการ กรม สบส. จะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้น” นายดนัย กล่าว