อย. ยัน “สารกันเสีย” ในเครื่องสำอางไม่เป็นอันตราย หากส่วนผสมไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด เว้นสารกลุ่มพาราเบน 5 ตัวที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ห้ามใส่เด็ดขาด เตือนผู้ที่ผิวแพ้ง่ายอ่านฉลากก่อนเลือกซื้อ
ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กลาาวว่า ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลเรื่องสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว 4 ชนิด ได้แก่ ไตรโคลซาน เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน พาราเบน และ โซเดียมลอริลซัลเฟต เป็นสารที่ต้องระวัง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายนั้น อย. ได้มีการทบทวนติดตามมาตรฐานการใช้ของสารดังกล่าว ซึ่งจัดเป็นสารกันเสีย เนื่องจากยังอนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอางได้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2560 ซึ่งในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรปก็ได้กำหนดปริมาณและเงื่อนไขการใช้เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยกำหนดชนิดและความเข้มข้นสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้
ภก.สมชาย กล่าวว่า สารไตรโคลซานเป็นสารกันเสียในความเข้มข้นไม่เกิน 0.3% ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้แล้วล้างออก เช่น ยาสีฟัน สบู่เหลว แชมพู ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเล็บก่อนทำเล็บเทียม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย แป้งทาหน้า และผลิตภัณฑ์ปกปิดริ้วรอยเฉพาะที่ (Blemish concealers) ในกรณีที่ใช้ในช่องปากจะใช้ได้ไม่เกิน 0.2% ส่วนสารกลุ่มพาราเบน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ สารพาราเบนที่มีความเสี่ยงสูงอาจก่อให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ สารไอโซโพรพิลพาราเบน ไอโซบูทิลพาราเบน ฟีนิลพาราเบน เบนซิลพาราเบน และ เพนทิลพาราเบน ซึ่งได้ถูกจัดให้เป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางแล้ว และสารพาราเบนตัวอื่นๆ ที่จัดเป็นสารกันเสียตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ใช้ได้ตามปริมาณและเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น
“สำหรับกรณีของสารโซเดียม ลอริล ซัลเฟต จัดเป็นสารที่ใช้ทำความสะอาดชำระสิ่งสกปรก เป็นสารลดแรงตึงผิว และทำให้เกิดฟองในเครื่องสำอาง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และ อาเซียน ได้อนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอางมาเป็นเวลานานแล้ว ปัจจุบันยังมีการใช้ได้ซึ่งไม่ควรเกิน 15% สำหรับผู้บริโภคที่ผิวแพ้ง่ายอาจพิจารณาส่วนผสมจากฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อหลีกเลี่ยงสารดังกล่าว ทั้งนี้ ขอเตือนผู้บริโภคขอให้ระมัดระวังการซื้อเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ โดยดูฉลากผลิตภัณฑ์และสูตรส่วนประกอบ ทางด้านของผู้ผลิตและจำหน่ายขอให้ประกอบการอย่างมีคุณธรรม อย่าเห็นแก่ผลกำไร หรือหลอกลวงผู้บริโภคไม่ว่าจะช่องทางใดก็ตาม หาก อย. ตรวจพบสารห้ามใช้ หรือสารที่ผสมเกินปริมาณที่กำหนด จะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด” รองเลขาธิการ อย. กล่าว