รพ.รัฐ ขาดแคลน “พยาบาล” บุคลากร พ่วงคนไข้มาก ทำผู้ป่วยรอคิวนาน ผอ.รพ.สมุทรปราการ ชี้ รพ.รัฐ กว่า 90% ขาดแคลนทั้งนั้น สธ. เร่งประชุมด่วนแก้ปัญหารอคิวนาน พร้อมวาง 3 มาตรการแก้ระยะยาว
จากกรณีกระแสข่าวพยาบาล รพ.รามาธิบดี ลาออกจนต้องปิเห้องผ่าตัด ซึ่ง ผอ.รพ.รามาฯ ชี้แจงว่า มีการเข้าออกของบุคลากรตามปกติ อยู่ระหว่างการจัดสรรกำลังคน แต่ไม่กระทบการให้บริการนั้น
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ผอ.รพ.สมุทรปราการ และกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรนั้นเป็นปัญหาที่มีมาตลอดสำหรับโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะพยาบาลถือว่าขาดแคลนเป็นอย่างมาก ประมาณ 90% ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการเองก็ขาดพยาบาลอยู่กว่า 200 - 300 ตำแหน่ง ที่ผ่านมา ก็มีการหมุนเวียนเข้าและออกอยู่ตลอด เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่อยู่เขตปริมณฑล พยาบาลออกไปอยู่เอกชนกันมาก เป็นเช่นนี้มาตลอด ส่วนบุคลากรเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในโรงพยาบาลก็มีที่ขาดแคลนอยู่บ้าง ซึ่งไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะสามารถหมุนเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นไปทำได้ แต่พยาบาลไม่มีผู้อื่นทำหน้าที่แทนได้เนื่องจากต้องเป็นผู้มีความรู้ในวิชาชีพ อีกทั้งปัจจุบันประชาชนเองก็ต้องการการดูที่ทีประสิทธิภาพ
“ส่วนกรณีที่ว่าขาดแคลนบุคลากรจนประชาชนต้องใช้เวลานานในการรอรับบริการ โรงพยาบาลก็พยายามแก้ไข้ปัญหานี้อย่างเต็มที่แล้ว มีการนัดคนไข้ออนไลน์ เผื่อไม่ให้มารอกันจนล้นพยาบาล และทางโรงพยาบาลเองก็ให้บริการตรวจคนไข้ตั้งแต่เช้ายันเที่ยงคืน คือ พยายามให้บริการอย่างที่สุด แทบไม่มีโรงพยาบาลรัฐฯที่อื่นให้บริการได้ดึกขนาดนี้” นพ.สัมพันธ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาเร่งด่วนเรื่องการรอคิวรักษานานนั้น ถึงวันที่ 31 ก.ค. นี้ เวลา 13.00 น. ปลัด สธ. จะมีการเทเลคอนเฟอเรนซ์ กับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการในสังกัด สธ. เพื่อทำความเข้าใจและกำชับให้ เน้นการสื่อสารกับผู้ป่วยมากขึ้น เพื่อไม่ให้ความเข้าใจผิด จนเกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ปัญหาความล่าช้าในการรักษาพยาบาลไม่ได้มาจากเรื่องของ ปัญหาคนไข้ปริมาณมากอย่างเดียว ยังมาจากความขาดแคลนของบุคคลด้วย ซึ่งจากการสำรวจอัตรากำลังพบว่ายังขาดแคลนบุคคลาสาธารณสุขในทุกสาขารวม 36,000 คน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนระยะยาวนั้น จะมีการดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1. ระบบการบริการเพิ่มเติม ทั้งหมอครอบครัว การจัดบริการคลินิกนอกเวลาเพิ่ม อาจมีการเก็บเพิ่มเฉพาะค่าธรรมเนียม 100 บาท แต่ไม่ได้เก็บค่ายา รวมทั้งอนาคตจะนำระบบไอทีมาในการจัดระบบรอคิวทุก รพ. โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดง ต้องได้รับการบริการก่อน จากนั้นสีเหลือง และสีเขียว และเพื่อให้ผู้ป่วยทราบกระบวนการขั้นตอนการรักษา 2. บุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งจากการจัดสรรตำแหน่งภาพรวมแล้ว พบว่า ยังขาด 36,000 อัตรา แบ่งเป็นส่วนบริหาร 6,000 อัตรา และส่วนการบริการทุกสาขาวิชาชีพอีก 30,000 อัตรา
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า 3. ผู้ใช้บริการ จะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง ลดป่วยลดโรค รวมทั้งสร้างความเข้าใจว่าหากป่วยไม่มากอาจไม่ต้องมา รพ.ใหญ่ แต่เข้าสู่คลินิกนอกเวลา ยอมเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมที่ไม่มากนัก แต่ลดความแออัดลงได้ โดยทั้งหมดเป็นแผนระยะยาว 5 - 10 ปี ซึ่งต้องทำร่วมกันทั้งหมด