xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคยื่น สธ.ค้านแก้ กม.ให้ ก.เกษตรฯ ฮุบหน้าที่ อย.ตรวจสอบ “อาหารนำเข้า” ลั่นไม่เชื่อใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้บริโภคยื่นหนังสือถึง รมว.สธ. คัดค้านแก้กฎหมายให้ ก.เกษตรฯ ฮุบหน้าที่ตรวจสอบสินค้า “อาหารนำเข้า” ไปจาก อย. ลั่นไม่เชื่อใจการตรวจสอบคุณภาพ ชี้ สนับสนุนสินค้าส่งออกให้ดีก็ไม่ถูกตีกลับ ย้ำ ต้องถ่วงดุลอำนาจการตรวจสอบสินค้า

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่สำนักงานรัฐมนตรี อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายพชร แกล้วกล้า ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินทางมายื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร และ พ.ร.บ. อาหาร ฉบับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อถ่ายโอนอำนาจการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดูแล โดยมี นายวีรวัฒน์ วรกิจวิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานประสานการเมือง สำนักงานรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ ก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

นายพชร กล่าวว่า การถ่ายโอนอำนาจในการตรวจสอบอาหารนำเข้าไปให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ดำเนินการ โดยอ้างว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มอำนาจการต่อรองกับประเทศคู่ค้า แก้ปัญหาสินค้าส่งออกที่ถูกตีกลับ ถูกตรวจสอบซ้ำและใช้เวลานาน ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรละทิ้งเรื่องของการควบคุมคุณภาพของสินค้าที่จะส่งถึงมีผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งเราไม่มั่นใจกระทรวงเกษตรฯ เพราะเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรไม่ให้มีสารพิษ สารเคมีตกค้างยังทำไม่ได้ จากการสุ่มตรวจสินค้าเกษตรที่มีตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานก็พบว่า มีสารเคมีตกค้างเกินครึ่ง และตกค้างยาวนาน ดังนั้น ขอเรียกร้องให้มีการถ่วงดุลในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า ให้เป็นหน้าที่ของ
อย.

“กระทรวงเกษตรฯ มาสนับสนุนการส่งออก ก็ดูแลอาหารส่งออกให้มีมาตรฐานที่ดี ก็จะไม่มีปัญหาการตีกลับ ส่วน อย. ดูแลอาหารนำเข้า โดยเมื่ออาหารที่ส่งออกไปถูกตีกลับก็มาเข้าสู่กระบวนการอาหารนำเข้า ก็ต้องเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเปลี่ยนผู้รับผิดชอบหน้าที่ อีกทั้งสินค้าเกษตร และอาหาร ไม่สามารถแบ่งแยกกันได้ด้วยคำนิยาม เนื่องจากพื้นฐานของอุตสาหกรรมอาหารมาจากการเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารด้วยการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคู่ค้า แต่ไม่ควรเอาเงื่อนไขทางด้านความปลอดภัยอาหารเป็นประเด็นในการเจรจาต่อรองทางการค้า” นายพชร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น