มูลนิธิเอไอพี รวมความเห็น ปชช. กว่า 1 ล้านคน จากโครงการ “ฟ้องป้าเปีย” ยื่น กทม.- นครบาล ชง “เขตบางซื่อ” นำร่องจำกัดความเร็วรถ ออกข้อบังคับกำหนดไม่เกิน 50 กม./ชม. ในเขตชุมชนหนาแน่น เริ่มที่หน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ ลดการเกิดอุบัติเหตุ ด้าน กทม. เตรียมออกแบบป้ายเตือน คาด ไม่เกิน 2 เดือน ประกาศคุมความเร็วเป็นทางการ ก่อนขยายพื้นที่อื่น
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP Foundation) และ ภาคีเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยความเร็ว นำเสนอผลการรณรงค์ โครงการ “ฟ้องป้าเปีย ช้าลงหน่อย ชีวิตปลอดภัย” (Slow Down to Save Lives) ต่อ นายสุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ผู้แทนผู้ว่าราชการ กทม. และ พ.ต.อ.ชัยกฤต โพธิ์อ๊ะ ผู้กำกับการกองบัญชาการ 5 บก.จร. ในฐานะผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล หลังจากเปิดระดมความคิดเห็นของประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ ด้วยการติดแฮชแท็ก “#ฟ้องป้าเปีย” ในช่องทางของเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และ อินสตาแกรม ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.- 18 ก.ค. 2560
น.ส.อรทัย จุลสุวรรณรักษ์ ผู้จัดการมูลนิธิเอไอพี กล่าวว่า หลังจากการรณรงค์ มีประชาชนให้การตอบรับจำนวนมาก โดยคลิปวิดีโอที่ผลิตเพื่อการรณรงค์มียอดเข้าดูกว่า 1 ล้านครั้ง นอกจากนี้ ประชาชนยังเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น จากหลากหลายกลุ่ม ทั้งจากผู้ใช้รถ ใช้ถนน รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งชัดเจนว่าการขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นปัญหาของคนกรุงเทพฯ แม้ว่าจะคิดว่ากรุงเทพฯ รถติดไม่น่าจะที่เร่งความเร็วได้ แต่มีสถิติยืนยันว่า การใช้ความเร็วโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนหนาแน่น เช่น บริเวณตลาด หรือ โรงเรียน สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับประชาชนในบริเวณนั้น โดยมูลนิธิฯ ได้นำเสนอข้อมูลจากการรณรงค์ส่งต่อให้ กทม. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และ กองบังคับการตำรวจจราจร ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อเลือกพื้นที่นำร่องลดความเร็วในเขตกรุงเทพฯ
“ทางมูลนิธิเอไอพีได้ลงสํารวจพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิไทยโรดส์ ในวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ใน 2 พื้นที่ คือ บริเวณหน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ และ บริเวณหน้าตลาดมิ่งขวัญ บ้านนา เขตบางซื่อ ซึ่งจากการลงสํารวจ ได้ใช้คู่มือแนวทางการกําหนดความเร็วจํากัดในเขตเมือง และเทศบาลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในเขตโรงเรียนโยธินบูรณะ จําเป็นต้องมีการจำกัดความเร็ว ด้วยการออกข้อบังคับจากทางตํารวจนครบาล สําหรับการกําหนดความเร็วในเขตพื้นที่โรงเรียนและชุมชนหนาแน่น โดยทางมูลนิธิเอไอพี ร่วมกับมูลนิธิไทยโรดส์ จะเป็นผู้ออกแบบระยะการปักป้าย และการตีเส้นการจราจรที่สามารถลด หรือจํากัดความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่น ป้ายเตือนลดความเร็ว การตีเส้นบนพื้นผิวจราจร เพื่อที่ผู้ขับขี่รถจะได้ทราบว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ลดความเร็ว” น.ส.อรทัย กล่าว
น.ส.อรทัย กล่าวว่า พื้นที่บางซื่อจะประสบความสำเร็จในฐานะพื้นที่นำร่อง เพราะทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ประชาชน โรงเรียน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าของพื้นที่มีความเห็นพ้องต้องกัน และให้ความร่วมมือที่ดี ดังนั้น ผลของการควบคุมความเร็วน่าจะออกมาดี ซึ่งจะมีการอัปเดตผลของการกำจัดความเร็วในพื้นที่ดังกล่าวให้ประชาชนรับทราบต่อไป ขณะที่การจับกุมการใช้ความเร็วบนถนนที่ผ่านมา พบว่า เจ้าหน้าที่ยังขาดอุปกรณ์ในการตรวจจับ จึงขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหางบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ให้สามารถยืมมาใช้เพื่อการสุ่มตรวจจับได้ในแต่ละพื้นที่ด้วย สำหรับโครงการฟ้องป้าเปีย นั้นยังคงจะต้องดำเนินการต่อไป โดยประชาชนทุกคนสามารถฟ้องป้าเปียได้ในทุกจุดทั่วประเทศ
น.ส.อรทัย กล่าวว่า สำหรับการแสดงความคิดเห็นผ่านโครงการ #ฟ้องป้าเปีย มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยเป็นชาวกรุงเทพฯจำนวน 517,068 คน รองลงมา คือ จ.นครราชสีมา ตามด้วย จ.ชลบุรี และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นอกจากนี้ โครงการฟ้องป้าเปีย ยังได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชน กทม. ในเขตพื้นที่ที่มีประชาชนร่วมใช้ถนนกับยานยนต์ พบว่า กว่าร้อยละ 77 มีการเสนอให้มีการจำกัดความเร็วในพื้นที่เขตชุมชนหนาแน่นของกรุงเทพมหานครในหลายพื้นที่ อาทิ เขตพื้นที่บางซื่อ บางโพ สุทธิสาร ห้วยขวาง ดอนเมือง ดินแดง รามคำแหง ลาดพร้าว
นายสุธน กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. เล็งเห็นว่า ปัญหาเรื่องการขับรถเร็วเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละปีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยหลังจากนี้ กทม. จะลงสำรวจพื้นที่หน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ เขตบางซื่อ ที่จะเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อจะเตรียมออกแบบป้ายเตือนและตีเส้นจราจรให้เหมาะสมกับความเร็วที่เราจะกำหนดใช้กันซึ่งคาดว่าไม่น่าเกิน 2 เดือน ก็จะแล้วเสร็จ และประกาศเป็นเขตควบคุมความเร็วได้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ตนยังอยากฝากถึงประชาชนที่ขับขี่ด้วยว่าเมื่อท่านเห็นป้ายเตือนให้จำกัดความเร็ว หรือขับขี่รถผ่านย่านชุมชนหนาแน่น อาทิ วัด หรือ โรงเรียน ท่านควรจะลดความเร็วในการขับขี่ลง เพื่อทุกคนจะได้ใช้ทางที่ปลอดภัยร่วมกันได้
พ.ต.อ.ชัยกฤต กล่าวว่า หลังจากนี้ ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะเร่งออกข้อกำหนดในการควบคุมความเร็วในพื้นที่นำร่องหน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ เขตบางซื่อ ให้มีการปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และหากพื้นที่นำร่องแห่งนี้ประสบความสำเร็จก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นในเขตกรุงเทพมหานครอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีข้อกฎหมายบังคับตนก็อยากให้ประชาชนทุกคนขับขี่ด้วยการเคารพกฎจราจรและมีน้ำใจให้กับเพื่อนร่วมทางด้วย