จิตแพทย์เตือน “โค้ชชิ่ง” พูดให้กำลังใจ ไม่ใช่นักจิตวิทยา ไม่สามารถดูแล - วินิจฉัยผู้ป่วยจิตเวชได้ ย้ำ ต้องมีจรรยาบรรณอย่ายุ่งกับการเจ็บป่วย แนะ ปชช. ศึกษาข้อมูลก่อนเข้าคอร์ส
จากกรณีดรามาประเด็นสาวซื้อคอร์สอบรมกับนักพูดนักเขียนรายหนึ่ง แต่ถูกด่าทอ ไล่ให้ไปตาย และจับขัง โดย นายฐาวรา สิริพิพัฒน์ หรือ ดร.ป๊อป ออกมายอมรับว่า เพื่อทดสอบว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริงหรือไม่
วันนี้ (19 ก.ค.) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ไม่ทราบว่าเรื่องเป็นอย่างไรกันแน่ หากเป็นการกักขังจริงก็เป็นเรื่องทางกฎหมาย ส่วนเรื่องการพูด การอบรมเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ การฝึกอบรมเพื่อให้คนรู้สึกว่าตัวเองดี มีสภาวะจิตใจที่ฮึกเหิมนั้นทำได้ โดยหลักเพียงแค่ต้องการให้เอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรค หรือรักษาผู้ป่วยจิตเวช ผู้ที่ให้การอบรมก็ต้องมีจรรยาบรรณว่าต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเจ็บป่วย เพราะการเจ็บป่วยทางจิตใจเป็นเรื่องที่จะต้องดูเป็นรายบุคคล ถือเป็นการรักษา ถ้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวเมื่อไรต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศิลปะ ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นการพูดโดยที่ไม่รู้จริง กลายเป็นการโอเวอร์เคลมในสิ่งที่ไม่ได้เป็นความรู้ความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า คนที่เป็นโค้ชชิ่งลักษณะนี้ มีทั้งในและต่างประเทศ ทั้งแบบบุคคล และแบบกลุ่ม คนที่จะเข้าไปรับการอบรม ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ดูตามคุณภาพ หากเขาผ่านการอบรมมาดี ได้รับการรับรองจากสถาบันที่มีคุณภาพ ราคาพอสมควร คนฟังแล้วได้ประโยชน์ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกี่ยวกับการบำบัด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า โค้ชชิ่งไม่เหมือนกับนักจิตวิทยาคลินิก เพราะนักจิตวิทยาเป็นวิชาชีพที่ผ่านการศึกษา อบรมมา และได้รับใบประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับแพทย์ พยาบาล จึงจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ หากกระทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพจะมีกระบวนการลงโทษตั้งแต่ตักเตือน พักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะได้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้เห็นว่าคนที่เป็นวิชาชีพกับไม่ใช่วิชาชีพจะมีความแตกต่างกัน มีการรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำลงไป
“การรักษาโรคซึมเศร้าที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือการรักษาด้วยยา คนไข้บางคนอาจจะแสวงหาโอกาสให้ได้รับการดูแลตัวเองดีขึ้น และไปเข้าคอร์สอย่างนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะว่าเป็นคอร์สที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อบำบัดผู้ป่วยจิตเวช และหากโอเวอร์เคลมว่าทำกับผู้ป่วยได้ก็เป็นเรื่องที่อันตราย เหมือนกับรายการทีวีรายการหนึ่งที่แนะนำผู้ป่วยซึมเศร้าให้ไปเคาะระฆังฟังเสียง ทำจิตให้นิ่ง แล้วเปลี่ยนความคิดตัวเองแบบที่เขาแนะนำแล้วจะหาย ปรากฏว่าผู้ป่วยพูดตั้ง 2 ครั้ง ว่า อยากทำร้ายตัวเอง ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว เขายังเชื่อมั่นในวิธีการของเขา นี่เป็นตัวอย่างว่าเขาอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังโอเวอร์เคลม เขาอาจจะเชื่อว่าศาสตร์ที่เขาทำนั้นดี แต่ของทุกอย่างมีลิมิต ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะทำได้ทุกอย่าง ถ้าเชื่อมั่นตัวเองมากเกินไป เริ่มหลงความสามารถของตัวเองเกินไปแทนที่จะเกิดประโยชน์ก็จะกลายเป็นโทษไป เพราะที่จริงคนๆ นั้นควรได้รับคำแนะนำอย่างเร่งด่วนว่าควรไปพบกับจิตแพทย์ เพื่อทำการรักษา ไม่ใช่ยืนยันว่าฟังเสียงระฆังแล้วจะหาย” นพ.ยงยุทธ กล่าว
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ตอนนี้การรักษาผู้ป่วยทางจิตเวชนอกจากรักษาด้วยยาซึ่งเป็นมาตรฐานแล้วก็เอาเรื่องการบำบัดทางความคิดพฤติกรรม สติบำบัดมาใช้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกออกแบบมาเฉพาะ และได้รับการยอมรับว่าได้ผลเชิงประจักษ์ ซึ่งมีในโรงพยาบาลจิตเวช และโรงพยาบาลทั่วไปที่มีแผนกจิตเวช