xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่ลูกทะเลาะกันก็มีข้อดีนะ/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่เคยทะเลาะกับลูก ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อทะเลาะกันแล้วจบอย่างไร?

หนึ่ง - จบแบบแย่ๆ คือ ต่างคนต่างอยู่ เก็บความขุ่นมัวไว้และรอวันประทุอีกครั้ง

สอง - จบแบบรุนแรง ทะเลาะเบาะแว้งไม่มีใครยอมใคร หรือจบลงด้วยการลงไม้ลงมือ

สาม - จบแบบค้างคาใจ ต่างซุกปัญหาและไม่พูดเรื่องที่ทะเลาะกันอีก

สี่ - จบแบบได้เคลียร์ปัญหา และพร้อมที่จะปรับปรุงตัวด้วยกันทุกฝ่าย

ปัญหาเรื่องพ่อแม่ลูกทะเลาะกัน ถ้าจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะอยู่ด้วยกัน การกระทบกระทั่งกันย่อมเกิดขึ้นได้ ยิ่งมีช่องว่างระหว่างวัย ก็ย่อมมีปัญหาเป็นธรรมดา แต่ถ้าเรื่องปกตินี้ไม่ถูกดำเนินการแก้ไข ก็อาจนำไปสู่การบานปลาย และกลายเป็นลุกลาม จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เช่นกัน

ถ้าลูกยังอยู่ในวัยเด็กเล็ก เรื่องทะเลาะส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องลูกขัดใจพ่อแม่ ลูกมักทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ หรือไม่ก็เป็นการเอาแต่ใจตัวเองของลูก ในขณะที่คนเป็นพ่อแม่ก็กังวลกลัวลูกไม่ปลอดภัย ไม่ได้ดั่งใจ รูปแบบการทะเลาะถ้าไม่จบลงด้วยพ่อแม่ตามใจลูก ก็จะมีการทำโทษในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่วัยนี้มักจะจบลงได้ง่าย เพราะลูกก็มักเชื่อฟังพ่อแม่

พอลูกเริ่มเป็นเด็กโต เรื่องทะเลาะกันของพ่อแม่กับลูกส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องพฤติกรรม เช่น ขาดวินัย ไม่ทำการบ้าน ไม่สะอาด ไม่รับผิดชอบ ไม่ทำสิ่งใดที่พ่อแม่คิดว่าควรจะทำ หรือไม่ได้ดั่งใจ ฯลฯ บางคนอาจถึงขั้นทำตรงข้ามซะงั้น เรียกว่ามีความท้าทายตามวัย รูปแบบการทะเลาะของพ่อแม่กับลูกวัยนี้ จะเพิ่มดีกรีมากกว่าลูกวัยเด็กเล็ก เพราะเขารู้จักโต้เถียง และแสดงอารมณ์ไม่พอใจเวลาทะเลาะกับพ่อแม่

ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่สามารถระงับเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นเหตุได้เร็ว หรือมีวิธีจัดการที่ดี ปัญหาการทะเลาะกันก็จะไม่บานปลาย แต่ถ้าพ่อแม่มีโทสะตามไปด้วย ยิ่งเห็นลูกโต้เถียงก็ยิ่งปะทุอารมณ์ไปด้วย ผลที่ตามมาก็จะบานปลาย และอาจจบเรื่องราวไม่สวย กลายเป็นความฝังใจในทางไม่ดีของลูกไปได้

แต่ถ้าลูกเข้าสู่วัยรุ่นเมื่อไรแล้ว ปัญหาเหล่านี้ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะมีโอกาสและสุ่มเสี่ยงในการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกันได้ง่าย บางครอบครัวทะเลาะกันแทบทุกวัน จนกลายเป็นปัญหาภายในครอบครัว

หัวข้อในการทะเลาะส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องเพื่อนเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น เพราะลูกติดโทรศัพท์ ติดคอมพิวเตอร์ต้องคุยกับเพื่อน และนำไปสู่การไม่รับฟังพ่อแม่ และโกหก รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีกมากมาย พ่อแม่ที่มีลูกก้าวเข้าสู่วัยรุ่น คงจะเข้าใจดี และคงต้องเคยผ่านอารมณ์ทะเลาะกับลูกกันมาบ้างไม่มากก็น้อย

ในต่างประเทศ เคยมีการนำเอาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว หยิบมาเป็นประเด็นในงานศึกษาวิจัยอีกต่างหาก จากเว็บไซต์ Uinvue.com เคยพบว่าในแต่ละปีพ่อแม่และลูกจะมีเรื่องขัดใจ โต้เถียงไปจนถึงขั้นมีปากเสียงทะเลาะกันรวมแล้ว 4 วันต่อปี เท่ากับว่าเราต้องมาเสียเวลาทะเลาะกันประมาณ 96 ชั่วโมงต่อปี

“แม้การมีปากเสียง การทะเลาะกันจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว แต่จากการศึกษาก็พบว่ามันมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวไม่ใช่น้อย หากเป็นกรณีที่เบา ๆ ก็จะเป็นผลดีช่วยให้ชีวิตครอบครัวได้เรียนรู้กันและกัน”

พลันทำให้นึกถึงหนังสือของ ดร.เฮม จีนอตต์ ผู้เขียนหนังสือเรื่องวิธีพูดกับลูกวัยรุ่น โดยไม่ทำร้ายตัวตน และจิตใจของเขา และทำให้เขาอยู่ร่วมกับคุณได้ โดยไม่ทะเลาะหรือต่อต้านคุณ

“พ่อแม่ที่ฉลาดจะรู้ว่าการทะเลาะกับลูกวัยรุ่นนั้น เสมือนการพายเรือสู้กับกระแสน้ำ มีแต่จะนำหายนะมาให้ เวลาที่พ่อแม่โกรธอาจจะใช้คำพูดที่ไม่ตั้งใจทำให้เขารู้สึกโง่หรือความคิดไม่เข้าท่า อาจทำร้ายตัวตนและจิตใจจนทำให้เขาไม่รู้จักคุณค่าของตัวเอง และยังลามไปถึงการไม่รู้จักคุณค่าของคนอื่นอีกด้วย และที่เลวร้ายกว่านั้นคือ สักวันหนึ่งเขาจะคิดว่าตัวเขาเองเป็นเช่นนั้นจริงๆ”

เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยแห่งความสับสนและเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่ต้องก้าวจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่พ่อแม่จะต้องประคับประคองชีวิตของลูกให้ผ่านพ้นวัยนี้ให้ดีที่สุดด้วยวิธีการที่ดี เพื่อไม่ทำให้มีการทำร้ายจิตใจหรือทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัว

เรื่องทะเลาะกันภายในครอบครัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องจะบานปลายและกลายเป็นเรื่องใหญ่โตก็เพราะอารมณ์ที่ปะทุคุกรุ่นในช่วงเวลานั้นๆ และนำไปสู่การบานปลาย

เทคนิคการจัดการอารมณ์ของสมาชิกในบ้านเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์พ่อแม่ลูกทะเลาะกัน

หนึ่ง - การประคับประคองอารมณ์ให้มีสติ หลีกเลี่ยงการใช้คำพูด หรือการกระทำที่เป็นชนวนของความขัดแย้ง

สอง - การใช้ปิยวาจาในการสื่อสารในครอบครัว ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ชอบใจ

สาม - ไม่ใช้อำนาจในครอบครัว หรือเพราะว่าฉันเป็นพ่อแม่ ฉะนั้นฉันต้องถูกเท่านั้น

สี่ - กำหนดกฎ กติกา ภายในบ้านว่าอะไรควร อะไรไม่ควรตั้งแต่แรก รวมทั้งให้สมาชิกในบ้านรู้จักหน้าที่ และความรับผิดชอบของตัวเอง ไม่ให้มีการล่วงล้ำสิทธิซึ่งกันและกัน

ห้า - ถ้ามีเหตุให้ทะเลาะกัน ควรหลีกเลี่ยงทะเลาะกันในห้วงเวลานั้นๆ แต่รอให้อารมณ์เข้าสู่ปกติ ค่อยพูดกันด้วยเหตุผล

หก - ใช้ตัวช่วยจากสมาชิกในครอบครัวที่เข้าช่วยห้ามปรามหรือแก้ไขสถานการณ์ที่เหมาะสมและเหมาะเจาะกับเหตุการณ์

การทะเลาะกันในครอบครัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป หากสามารถปรับปรุงแก้ไขร่วมกันได้ การทะเลาะกันครั้งหนึ่งก็เท่ากับเป็นการเรียนรู้จักอารมณ์ของทุกฝ่าย เป็นเรื่องที่ทำให้รู้จักกันและกันดีขึ้น

ในเมื่อไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งหมด ก็ต้องแปรการทะเลาะให้เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น