สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เสนอ รบ. จัดเบอร์โทร.ฉุกเฉิน 3 ตัว หมายเลขเดียวแจ้งทุกเหตุฉุกเฉิน ชี้ ไทยยังไม่เตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินจากภัยพิบัติ ซ้อมอยู่บนกระดาษ
วันนี้ (12 ก.ค.) นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี เปิดเผยว่า ไทยได้มีการจัดประชุม The 2 nd ASEAN Executive Meeting on ASEAN Emergency Medicine and Disaster Preparedness ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ของผู้นำด้านการแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินในอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเป็นครั้งที่สอง โดยสิ่งสำคัญคือ การสร้างเครือข่ายคุณภาพในการป้องกันและรักษาภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินในภูมิภาคอาเซียนบูรณาการระบบเวชศาสตร์ฉุกเฉินร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ให้เสียชีวิต หรือพิการ เวทีนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยน และเกิดแรงผลักดันที่จะกลับไปทำงาน รวมทั้งผลักดันรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุขของแต่ละประเทศเพื่อทำให้งานนี้มีความยั่งยืน
“เวทีนี้จะสร้างเครือข่ายงานฉุกเฉินที่ไร้พรมแดน เน้นคุณภาพ และความจำเป็นในการร่วมมือกันโดยเฉพาะในภาวะภัยพิบัติ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการทั้งสองแบบ นั่นคือ ผ่านกระบวนการในส่วนรัฐบาล และผ่านกระบวนการของโครงข่ายที่เชื่อมกันแบบนี้ เพื่อช่วยเหลือกัน” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ด้าน นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานเวชศาสตร์ฉุกเฉินของไทย ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น หมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน ซึ่งแต่ละประเทศในอาเซียนใช้เลขสามตัว แต่ในไทยยังเป็นเลขสี่ตัว เลขสามตัวจะช่วยให้ประชาชนจำง่ายในภาวะวิกฤติ ส่วนหมายเลข 1669 ที่ใช้ในไทยในปัจจุบันใกล้เคียงกับหมายเลขเรียกแท็กซี่และธุรกิจบางอย่าง
“ในภาวะฉุกเฉินต้องแจ้งให้รวดเร็ว ทุกประเทศในอาเซียนมีเลขสามตัว ถ้ารัฐบาลจะดำเนินการในส่วนนี้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ให้ใช้หมายเลขฉุกเฉินแจ้งทุกเหตุได้เลย จะเป็นประโยชน์มาก” นพ.สมชาย กล่าวและว่า สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน กว่า 600 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะแพทย์เหล่านี้เมื่อจบไปแล้วอยู่ไม่นานก็ไปทำงานกับภาคเอกชน ทำให้ถมไม่ค่อยเต็ม ซึ่งเป็นปัญหาและต้องหาทางแก้ไขว่าจะทำอย่างไร ที่จะให้แพทย์เหล่านี้อยู่ในภาครัฐ จะเข้าถึงคนจนมากขึ้น ในเชิงระบบเราโชคดีที่มี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ที่เกิดขึ้นแล้ว และควรจะใช้โอกาสนี้สร้างระบบแพทย์ฉุกเฉินที่เข้มแข็ง แต่ขณะนี้ถือว่า สพฉ. ยังเดินไม่ค่อยตรงทิศทางนัก
นพ.สมชาย กล่าวว่า ถ้า สพฉ. เดินตรงทิศ สามารถออกแบบระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และบริหารระบบนี้ได้อย่างดี จะเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบงานตรงนี้ของประเทศได้อย่างเข้มแข็ง เพราะขณะนี้กฎหมายเอื้อตรงนี้อยู่ ซึ่งเรามีโอกาสพัฒนา เรามีทีมเมิร์ท หรือทีมแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ มีการเทรนนิ่งบุคลากร เกิดระบบที่มีกฎหมาย มีงบประมาณรองรับ ภายในสิบปีทีผ่านมาเราโตรวดเร็ว แต่อยากให้เข้ารูปเข้ารอยมากกว่านี้ เพื่อให้มีโอกาสพัฒนาอย่างมีคุณภาพ
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเตรียมพร้อม หรือเตรียมตัว ในภัยพิบัติต่างๆ รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมไว้ก่อน ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมา พอเกิดแล้วแก้เหมือนวัวหายแล้วล้อมคอก เช่น ในช่วงวิกฤตมหาอุทกภัย ปี 54 ไม่มีการเตรียมพร้อมไว้ก่อนจึงเกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ที่ผ่านมา มีแค่การเตรียมพร้อมกันในกระดาษ โดยไม่มี การฝึก หรือ เทรนนิ่ง ในสถานการณ์จำลอง สำหรับเหตุวิกฤต หรือภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งการฝึกซ้อมถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าไม่ได้ฝึกปฏิบัติมีแต่แผนในกระดาษ เมื่อเกิดเหตุจริงก็จะไม่สามารถรับมือภัยพิบัติได้
“ขณะนี้ปัญหา คือ ไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมไว้ก่อนโดยการฝึกปฏิบัติ ส่วนใหญ่แค่ฝึกในกระดาษหรือบนโต๊ะ อนึ่ง ระบบสั่งการควรจะเป็นวันคอมมานด์ซิสเต็ม คือ สั่งการทางเดียว ที่ผ่านมามีปัญหาเพราะสั่งการหลายคน (ทุกคนสั่งหมด ระบบสั่งการที่มีผู้สั่งการคนเดียวจึงจำเป็นมาก ถ้ามีหลายคนจะวุ่นวายไปหมด เพราะคนรับคำสั่งปฏิบัติไม่ถูก ไม่รู้จะปฏิบัติตามนายคนไหน” ศ.นพ.สันต์ กล่าว