สธ. เผย “คลินิกหมอครอบครัว” ลดคนไข้ รพ. ใหญ่ ได้ 60% ลดเวลารอคอยเหลือแค่ 44 นาที ประหยัดค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของประชาชนคนละ 1,655 บาท เร่งผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รองรับดูแลประชาชนทั้งประเทศ
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้การขับเคลื่อนคลินิกหมอครอบครัวได้ผลดี สามารถดำเนินการแล้ว 596 ทีม ใน 12 เขตสุขภาพ ครอบคลุม 76 จังหวัด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวจำนวน 700 คน ดูแลประชากร 6,287,809 คน เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จากการประเมินผลการดำเนินงานในระยะสั้นเห็นผลชัดเจนใน 3 เรื่อง ดังนี้
1. ช่วยลดการใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่ได้ถึงร้อยละ 60 มีเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต้องไปรับบริการ ทำให้แพทย์สามารถเน้นการดูแลเฉพาะทางได้ 2. ลดเวลารอคอยในโรงพยาบาลใหญ่จาก 172 นาที เหลือ 44 นาที และ 3. ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางไปโรงพยาบาล 1,655 บาท/คน ส่วนในระยะยาวหวังผลสร้างความรู้ ความเข้าใจความสามารถในการจัดการตนเองด้านสุขภาพ (Self management) ของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย จนเกิดเป็นการสร้างสุขภาพจากภายในตัวเอง ภายในครอบครัวไปสู่การร่วมกันสร้างสุขภาพและความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อให้คนไทยทุกคนมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลภายในปี 2569
ทั้งนี้ การผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในช่วง 10 ปี จะผลิตจากโรงเรียนแพทย์ประมาณ 1,000 คน และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวผลิตอีก 5,200 คน ซึ่งระหว่างรอการผลิตได้มีการจัดอบรมระยะสั้น เวชศาสตร์ครอบครัวสำหรับแพทย์ปฏิบัติงานในคลินิกหมอครอบครัว นอกจากนี้ ในปี 2561 ได้เพิ่มโรงพยาบาลที่เป็นแหล่งผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอีก 71 แห่ง คาดว่า สามารถผลิตแพทย์ได้เพิ่มอีกเกือบเท่าตัว จากปีละ 270 คน เป็น 500 คน เพื่อให้มีแพทย์ในคลินิกหมอครอบครัวเพิ่มขึ้นตามแผนที่วางไว้