ช่วงนี้เจ้าลูกชายคนเล็กวัยเกือบ 18 ปี (สิน สิทธิสมาน) เล่นกีตาร์แทบทุกวัน ก็เลยลองตั้งคำถามว่า “เล่นดนตรีแล้วได้อะไรครับ” คำตอบคือ “เล่นดนตรีได้อะไรมากกว่าดนตรีครับ” จึงเป็นที่มาให้เขาเขียนเล่าว่าทำไมเล่นดนตรีถึงได้อะไรมากกว่าดนตรี
............................................
วัยรุ่นไทยไม่ได้เหมือนที่ผู้ใหญ่คิดเสมอไปว่าเป็นวัยที่มีปัญหามากที่สุด ก็จริงอยู่ที่วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความซับซ้อนมาก เนื่องจากเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเจริญเติบโต มีความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ยิ่งเวลารวมกลุ่มกันก็จะยิ่งทวีความคึกคะนองขึ้นไปอีก แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าวัยรุ่นทุกคนต้องเป็นแบบนี้นะครับ
เพราะวัยรุ่นที่สร้างสรรค์ก็มีไม่น้อย
หลายคนอาจคิดว่าการที่วัยรุ่นรวมกลุ่มนัดกันก็จะมีแต่ไปเดินห้าง หรือไปดื่มสังสรรค์ แต่ไม่จริงทั้งหมด มีวัยรุ่นมากมายที่ชวนกันไปอ่านหนังสือ เล่นกีฬา หรือแม้แต่การเล่นดนตรีก็มีเยอะแยะไป วัยรุ่นสมัยนี้เล่นดนตรีหลากหลายมากขึ้น แต่จุดเริ่มต้นก็ต่างกันไป บางคนอาจจะเล่นเพราะพ่อแม่ให้เล่น บางคนเล่นเพราะรักจริงๆ หรือแม้กระทั่งบางคนก็เล่นดนตรีเพราะเท่ก็มี
แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไร การเล่นดนตรีก็มีประโยชน์มากมายเหลือเกิน นอกจากจะให้เสียงเพลงแล้วยังให้อะไรอีกมากมาย ให้ความสุขแก่ผู้เล่น ให้ความผ่อนคลายเวลาเครียด หรือให้แม้แต่สติปัญญา เช่น ฝึกการนับจังหวะ หรือหัดอ่านโน้ต
ผมก็เป็นอีกคนที่เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่เด็กๆ ผมเริ่มจากเล่นเปียโนเป็นดนตรีชิ้นแรก แต่เวลาผ่านไปก็มาถูกโฉลกกับไวโอลิน
พอเข้าสู่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ก็เลือกเล่นไวโอลินตั้งแต่ชั้น ป.4 และมีโอกาสได้พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง เพราะที่โรงเรียนมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากร รวมไปถึงโอกาส จากตอนแรกที่เล่นเดี่ยวก็มีโอกาสได้เข้าสู่วงจุลดุริยางค์ตั้งแต่ตอนขึ้นชั้น ม.1 ซึ่งการเล่นเป็นวงนั้นแตกต่างกับการเล่นเดี่ยวโดยสิ้นเชิง
เพราะเราต้องฟังคนอื่นมากกว่าตัวเราเอง ต้องเข้าใจในเพลงอย่างลึกซึ้งถึงจะทำออกมาได้ดี
ตอนแรกๆ ผมก็ไม่ชินนัก ผมก็ต้องทำตามพี่ๆ ในวงไปก่อน แต่พอเวลาผ่านไป เราก็รับรู้และเข้าใจมากขึ้น จนในปีสุดท้ายผมได้มีโอกาสรับตำแหน่ง คอนเสิร์ตมาสเตอร์ หรือนัยหนึ่งหัวหน้าเซกชั่นไวโอลิน ซึ่งได้นั่งตำแหน่งใกล้วาทยกร นับเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะนอกจากในแต่ละปีจะมีคอนเสิร์ตมาสเตอร์ได้เพียงคนเดียวแล้ว การรับหน้าที่นี้ยังสอนให้ผมเป็นผู้นำและทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ที่สำคัญ ทำให้ผมสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากตรงนี้ไปปรับใช้ในด้านต่างๆ ของชีวิตได้
หลังจากเรียนจบแล้ว ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสเล่นไวโอลินมากนัก แต่หันไปเล่นกีตาร์แทน เพราะกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นได้ในทุกที่ และไม่ยากเกินไป ผมก็ฝึกกีตาร์จากพื้นฐานไวโอลินนี่แหละครับ และอยากจะบอกว่าตอนเล่นไวโอลินใหม่ๆ ก็ได้พื้นฐานมาจากเปียโน ดนตรีสามารถเชื่อมกันได้
การเล่นดนตรีนั้นทำให้ผมได้เพื่อนใหม่หรือสังคมใหม่ๆ ไม่เหมือนเดิมจากที่มีมาก่อน ทำให้มองเห็นว่าในชีวิตคนๆ หนึ่ง ควรเล่นดนตรีให้เป็นอย่างน้อยหนึ่งชนิด ถ้าทำได้ก็จะเป็นอะไรที่ดีมาก หรือแค่เล่นให้เป็นงานอดิเรกก็ได้ไม่จำเป็นต้องเก่งระดับอาชีพ เพราะดนตรีให้อะไรมากมายเหลือเกิน ดนตรีสามารถสื่ออารมณ์ต่างๆ ได้มากมาย ทั้งสุข เศร้า สนุกสนาน ตื่นเต้น สามารถรับรู้ได้จากดนตรีทั้งหมด และยังสามารถนำไปเป็นอาชีพได้อีกด้วย ดนตรีสามารถแก้ปัญหาได้หลายอย่างเวลาที่ รู้สึกเดือดร้อน อึดอัด คุณลองนั่งฟังเพลงดูสิครับมันช่วยได้เยอะเลย หรือจะเล่นดนตรีก็ได้ แต่จะเล่นอะไรนั้น ก็ต้องแล้วแต่ความอยากหรือความชอบส่วนตัว
ที่แน่ๆ ดนตรีทำให้ปิดเทอมที่แสนยาวนี้ ทำให้ผมได้เจอเพื่อนและทำอะไรที่สร้างสรรค์ร่วมกันครับ
ขออนุญาตจบลงด้วยเพลง “ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ” หนึ่งในบทเพลงจากพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 6 องค์พระผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นหนึ่งในเพลงที่เล่นเป็นประจำของวงจุลดุริยางค์วชิราวุธวิทยาลัย ที่ผมเริ่มต้นด้วยตำแหน่งไวโอลิน 2 และตามด้วยตำแหน่งไวโอลิน 1 ก่อนจบลงด้วยคอนเสิร์ตมาสเตอร์
ชนใดไม่มีดนตรีกาล
ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ
เขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษณ์
ฤๅอุบายเล่ห์ร้ายขมังนัก
มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
อีกดวงใจย่อมดำสกปรก
ราวนรกเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้
เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ
………………………………………
ความคิดสร้างสรรค์ คือ สิ่งใหม่ และเป็นสิ่งใหม่ที่ดี ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ อาจจะต่อตัวเอง ส่วนรวม และสามารถถ่ายทอดออกมาได้หลายทาง ไม่ว่าการคิด การพูด การกระทำ หรือแม้แต่การเล่น ซึ่งหมายรวมถึงการเล่นดนตรีด้วย
เนื่องเพราะดนตรี มีจังหวะ ท่วงทำนอง ความถี่ของเสียงที่ได้ยิน มีผลต่อการเชื่อมโยงของเส้นใยประสาท ยิ่งมีการเชื่อมต่อมากเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อการพัฒนาเครือข่ายเส้นใยสมอง ช่วยเพิ่มศักยภาพความสามารถในการจดจำ ทำให้ส่งผลดีต่อจิตใจและอารมณ์ รวมทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์
ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ อธิบายว่า ความคิดสร้างสรรค์ เกิดขึ้นโดยการทำงานของ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกหรือ ระบบลิมบิก (Limbic System)
ระบบลิมบิก เป็นสมองส่วนที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสิน ไม่ยึดติดกฎเกณฑ์ สมองส่วนนี้จะทำงานได้ดีเมื่อยังเป็นเด็ก แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น สมองส่วนเหตุผลและกฎเกณฑ์ (Cerebral Cortex) ก็จะเติบโต และควบคุมระบบลิมบิก ทำให้มีเหตุผล มีกฎเกณฑ์ ยึดประเพณีปฏิบัติแทน
จริงๆ แล้วความคิดสร้างสรรค์ในคนเรามีติดตัวมาแต่กำเนิด จะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การรับข้อมูลผ่านจากประสาทสัมผัส ทั้ง 5 คือพื้นฐานสำคัญทางความคิด เพราะความรู้สึกต่างๆ ที่ได้รับจะถูกลำเลียงส่งไปยังเซลล์ประสาทที่อยู่ในสมอง เมื่อสมองทำการจัดลำดับความสำคัญเรียบร้อย ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกบันทึกไปยังส่วนความจำ และถูกนำไปใช้ในอนาคต
โดยเฉพาะเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้น ต้องอาศัยหลักการกระตุ้นด้วยสองมือของพ่อแม่ เพราะเด็กต้องเรียนรู้อย่างมีความสุขและเป็นอิสระ ไม่ใช่ถูกบังคับ เพราะการถูกบังคับเป็นการปิดกั้นโอกาสทางความคิด
ถึงเวลาชวนลูกเล่นดนตรีเถิดชื่นใจ