xs
xsm
sm
md
lg

ทส.ขับเคลื่อนพลังประชารัฐ ดันเป้าหมายประเทศไทยไร้ขยะอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันคนไทยผลิตขยะออกมา 27.04 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 7.4 หมื่นตันต่อวัน หรือคนละ 1.14 กก./วัน ซึ่งจะถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 9.59 ล้านตัน (ร้อยละ 36) ส่วนที่เหลือนำไปกำจัดไม่ถูกต้อง 11.69 ล้านตัน มีขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ 5.76 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 21 ของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ จึงเกิดเป็น “ขยะสะสม” ในบางพื้นที่ กลายเป็นปัญหามลภาวะ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและแพร่สารพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ประชาชน รวมถึงลดประสิทธิภาพการระบายน้ำซึ่งเป็นอีกสาเหตุของน้ำท่วม การส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจัดการขยะ โดยลดปริมาณการเกิดขยะที่ต้นทาง นับเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาขยะที่มีปริมาณมากของประเทศไทยลดลงได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนก่อให้เกิดความเข้มแข็งร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยการรวมพลังเป็น “ประชารัฐ” ไม่ว่าจะอยู่ในภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือภาคประชาชน ทุกภาคส่วน ร่วมกันแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ในการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญมากต่อการจัดการปัญหาขยะ และได้ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” เรื่องการจัดการปัญหาขยะ มาตั้งแต่ปี 2557 พร้อมกำหนด “โรดแมป” การจัดการขยะและของเสียอันตราย โดยมีการดำเนินการมาตรการต่างๆ ตามโรดแมปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังให้ความเห็นชอบ “แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ” (พ.ศ. 2559 - 2564) มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำ “แผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะตามแนวทางประชารัฐ” ระยะ 1 ปี (พ.ศ. 2559 - 2560) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติการจัดการขยะระยะสั้นภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว

“แผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะฯ เป็นแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero waste Society) ภายใต้แนวคิด 3Rs-ประชารัฐ คือ การส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง ซึ่งเป็นการจัดการขยะที่ยั่งยืน โดยการลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อวางรากฐานการดำเนินการจัดการขยะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว

นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบในการจัดการขยะที่ต้นทางเสริมสร้างวินัยคนในชาติสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตามโรดแมปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และได้นำ “แผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะตามแนวทางประชารัฐ” มาผนวกกับแผนการดำเนินโครงการต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชน หรืออีกนัยหนึ่งคือการสร้าง “เครือข่ายประชารัฐ” ที่เข้มแข็งในการจัดการปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยมีโครงการที่สำคัญและดำเนินอย่างต่อเนื่องจนบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จหลายโครงการ ดังนี้

โครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ Zero Waste ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2552 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือของประชาชนและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินงานจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เริ่มจากการจัดการขยะตั้งแต่แหล่งกำเนิดต้นทาง การลดปริมาณขยะ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ตามหลัก 3Rs จัดการขยะในชุมชนให้เกิดน้อยที่สุดจนเป็นศูนย์ โดยจะคัดเลือกชุมชนที่ทำประโยชน์ต่อสังคมในการจัดการขยะ ตามหลัก 3Rs และยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานให้กับชุมชนอื่นๆ สำหรับในปี 2560 นี้ มีชุมชนสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 192 แห่ง และมีชุมชนที่ผ่านเข้ารอบที่ 1 จำนวน 51 ชุมชน แบ่งเป็นกลุ่มชุมชนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ กลุ่มละ 17 ชุมชน ซึ่งในปีนี้ชุมชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 3 ถ้วยรางวัล ประกอบด้วยชุมชนขนาดเล็ก ชุมชนขนาดกลาง และชุมชนขนาดใหญ่ โดยจะจัดพิธีมอบถ้วยรางวัลในวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี 2560 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจและเป็นเกียรติประวัติสูงสุดแก่ชุมชนที่ได้รับรางวัล

สำหรับชุมชนที่ได้รับรางวัล จะได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานให้กับชุมชนอื่นๆ ในปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้ชุมชน Zero Waste จำนวน 15 ชุมชน ครอบคลุมทั่วประเทศ อาทิเช่น ศูนย์เรียนรู้บ้านทุ่งศรี ม.3 ต.ร้องกวาง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนควนโดนใน ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล ศูนย์เรียนรู้ชุมชนชุมชนบ้านหัวถนน ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ศูนย์เรียนรู้ชุมชนสื่อสารรวมใจสามัคคี ถ.พหลโยธิน เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

โครงการประกวดโรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School เป็นการขับเคลื่อนการทำงานสร้างวินัยของคนในชาติในการจัดการขยะ เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2556 มีเป้าหมายสำคัญ คือ สนับสนุนการสร้างเครือข่ายสถานศึกษา เพื่อให้มีการรวบรวมขยะส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง ปลูกฝังจิตสำนึกการลด คัดแยกขยะ และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผ่านระบบการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดวินัยในการจัดการขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทางในชุมชนและสถานศึกษา อันจะนำมาซึ่งสังคมรีไซเคิล หรือสังคมปลอดขยะในที่สุด สำหรับในปี 2560 นี้ มีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 738 โรงเรียน ผ่านเข้ารอบที่ 1 จำนวน 34 โรงเรียน แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนระดับก่อนประถมศึกษา โรงเรียนระดับประถมศึกษา และกลุ่มโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา กลุ่มละ 17 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้ ปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School ที่เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนบ้านนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนควนโดนวิทยา ม.1 ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวัน อ.เมือง จ.แพร่

อีกทั้งในปีนี้ได้ร่วมมือขับเคลื่อนการทำงานส่งเสริมชุมชนและโรงเรียนปลอดขยะ กับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 - 16 และ ทสจ. ทั่วประเทศ ในการสนับสนุนงานวิชาการ วิทยากร คำแนะนำ ให้กับโรงเรียนและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ และสำหรับชุมชนและโรงเรียนปลอดขยะที่เข้ารอบที่ 1 นั้น ได้มีพิธีมอบรางวัลเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 วันสิ่งแวดล้อมโลก ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

สำหรับความร่วมมือกับภาคเอกชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการสำคัญ คือ “โครงการรวมพลังสร้างวินัยลดใช้ถุงพลาสติก” โดยร่วมกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ 16 หน่วยงาน ทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด 3. บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด 4. บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) 6. บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด 8. บริษัท เซ็นทรัล จำกัด (เซ็นทรัลและเซน) 9. บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด 10. บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด (ซูเปอร์สปอร์ต) 11. บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (ท็อปส์) 12. บริษัท เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป จำกัด 13. บริษัท บีทูเอส จำกัด 14. บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด 15. บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) และ 16. บริษัท เสรี พรีเมียร์ จำกัด (ตลาดเสรี มาร์เก็ต เดอะไนน์ พระรามเก้า) รณรงค์งดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดใช้และลดขยะประเภทถุงพลาสติก ซึ่งได้เริ่มรณรงค์มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 สามารถลดถุงพลาสติกได้รวมกันมากถึง 244,545,853 ใบ และยังได้มีการขยายการรณรงค์ จากเดิมที่มีการงดให้บริการถุงพลาสติกทุกพุธและวันที่ 15 ของเดือน ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ของทุกสัปดาห์และในทุกวัน ซึ่งสะท้อนได้ดีถึงการตอบรับและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน

ทั้ง 3 โครงการข้างต้น เป็น ส่วนหนึ่งของความพยายามเชื่อมความประสานภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้าง “พลังประชารัฐ” ที่เข้มแข็ง มีการร่วมแรงร่วมใจในการลด คัดแยก และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ปลูกฝังจิตสำนึกผ่านระบบการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เกิดวินัยในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางอย่ายั่งยืน อันจะ นำไปสู่ “ประเทศไทยไร้ขยะ” และสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม

(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น