xs
xsm
sm
md
lg

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อ “นิ้วขาด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฉ. แนะวิธีปฐมพยาบาลเมื่อพบเห็นผู้ป่วย “นิ้วขาด” หรืออวัยวะร่างกายขาด ใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลห้ามเลือด รีบนำอวัยวะที่ขาดใส่ถุงพลาสติกปิดปากถุงให้แน่นใส่น้ำแข็งและรีบส่งผู้ป่วยและอวัยวะที่ขาดให้ถึงมือแพทย์ภายใน 6 ชั่วโมง

จากเหตุการณ์ที่มีเด็กนักเรียนถูกประตูหนีบนิ้วจนขาด แต่ไม่สามารถต่อนิ้วที่ขาดได้ เพราะการส่งต่อไปทำการรักษาล่าช้าตามที่สื่อหลายแห่งได้มีการนำเสนอข่าวไปนั้น

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า หากเราพบเห็นบุคคลที่นิ้ว หรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจน ทำให้เสียเลือดมากนั้นสิ่งที่เราต้องทำเป็นอันดับแรกคือตั้งสติและรีบโทร.ขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ให้รีบเข้ามารับผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลให้ได้อย่างทันท่วงที และในระหว่างที่เรากำลังรอเจ้าหน้าที่เดินทางเข้ามาให้ความช่วยเหลือนั้น ก็ควรที่จะปฐมพยาบาลผู้ป่วยโดยให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่น เพื่อป้องกันเลือดออก ทั้งนี้ ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน

“ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาด คือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมากๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 - 18 ชม. ดังนั้น การส่งผู้ป่วยไปทำการรักษาให้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวก็จะช่วยทำให้แพทย์สามารถรักษาอวัยวะที่ขาดให้กลับมาใช้งานได้” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น