xs
xsm
sm
md
lg

อธิการฯ ม.กาฬสินธุ์ ยันเลือก “ตรามหา'ลัย” ผ่านประชาสังคมแล้ว ส่วนตราประกวดไม่ผูกมัดว่าต้องใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตรามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่ทำถูกต้องตามกระบวนการและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
อธิการฯ ม.กาฬสินธุ์ ยัน “ตรามหาวิทยาลัย” ทำตามกฎหมาย มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คนส่วนใหญ่เห็นชอบกับตรานี้แล้ว ก่อนเสนอเข้าสภามหาวิทยาลัย สกอ.- กฤษฎีกา และ ครม. พิจารณา แจงตราชนะเลิศประกวดจัดโดย มรภ.กาฬสินธุ์ ตอนยังไม่รวมมหา'ลัย

นายจิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยที่เพิ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 นั้น ยืนยันว่า ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ส่วนที่ไม่ใช้ตราสัญลักษณ์ที่ชนะการประกวดนั้น ขอชี้แจงว่า การจัดประกวดนั้นเป็นการจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ในช่วงที่ยังไม่มีการควบรวมมหาวิทยาลัย ซึ่งในการประกวดก็ระบุแล้วว่าไม่ได้มีผลผูกพันกับการนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของ ม.กาฬสินธุ์ และโดยมารยาทแล้วก็ไม่ควรทำแทน ม.กาฬสินธุ์ ที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะข้อเท็จจริง คือ การจัดทำตรามหาวิทยาลัยจะต้องตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นเสียก่อน ตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2558 ที่ระบุว่า มหาวิทยาลัยอาจกําหนดให้มีตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนราชการของมหาวิทยาลัยได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

“ช่วงแรกที่ตั้งมหาวิทยาลัยก็ยังไม่มีการดำเนินการ จนเมื่อตนได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิการบดี ก็ได้มีการปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งรักษาการนายกสภามหาวิทยาลัย เรื่องการจัดทำตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย จึงมีการเชิญคนที่มีความรู้ความสามารถมาดำเนินการออกแบบ ซึ่งภาคเอกชนที่ออกแบบให้นั้น ก็ออกแบบให้กับระดับจังหวัด ซึ่งก็ดำเนินการให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เมื่อได้รูปร่างของตราเรียบร้อยแล้ว ก็นำมาทำประชาพิจารณ์ให้คนในมหาวิทยาลัยรับทราบ ทั้ง 2 พื้นที่ ซึ่งเห็นด้วยถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้ ท่านผู้ว่าฯ ยังขอความอนุเคราะห์บุคคลต่างๆ ที่มีความรู้ ความสามารถ มีโปรไฟล์ดีในจังหวัดมาร่วมให้ความคิดเห็นด้วย เรียกว่า มีเวทีการมีส่วนร่วมของคนครบทั้งหมด” นายจิระพันธ์ กล่าว

นายจิระพันธ์ กล่าวว่า กระบวนการจัดทำตรามหาวิทยาลัยยังไม่จบเท่านี้ เพราะยังต้องนำเข้าสภามหาวิทยาลัย ที่มีองค์ประชุม 29 ท่าน ซึ่งก็จะมีการให้ความเห็นเพื่อปรับปรุงแบบ จนเมื่อสภาฯ อนุมัติก็ยังต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณา และส่งยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าการออกแบบไม่ติดลิขสิทธิ์ใดๆ จากนั้นจึงเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจึงประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ด้วยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม และตนไม่ได้ดำเนินการเพียงคนเดียว และเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง และทำในนาม ม.กาฬสินธุ์ ทุกอย่างจึงชอบด้วยกฎหมาย

นายจิระพันธ์ กล่าวว่า สำหรับ ม.กาฬสินธุ์ อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างมหาวิทยาลัย โดยแบ่งเป็น 9 คณะ โดยคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ถือว่ามีความโดดเด่นและเข้มแข็ง เพราะเป็นการควบรวมจาก 2 มหาวิทยาลัยเดิมที่ถือว่ามีจุดแข็งอยู่แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ซึ่งโดดเด่นในเรื่องของศึกษาศาสตร์ จะพบว่ามีนักศึกษาสอบติดเยอะมาก และก็มีบัณฑิตที่จบไปสามารถสอบครูผู้ช่วยได้จำนวนมาก หรืออย่าง มทร.อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ ก็จะโดดเด่นในเรื่องของเกษตรและวิศวกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างโดยจะแยกคณะวิศวกรรมศาสตร์ต่างหากออกมาจากคณะเกษตรศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น