โดย...ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ได้ดูคลิปวิดีโอที่ผู้ปกครองแบบถ่ายเมื่อไปให้เงินผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาชื่อดังแล้วเกิดความสงสัยว่าเมื่อรับเงินไปแล้วเอาไปทำอะไร ถ้าหากมีการใช้เงินอย่างถูกต้องเปิดเผยก็ดีไป แต่ถ้ามีการใช้เงินไม่ถูกต้อง เช่น เป็นการเอาเข้ากระเป๋าเพื่อถอนทุนจากการวิ่งเต้นเส้นสายกับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ได้ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดัง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และสังคมคงตั้งคำถามได้ว่าทำเช่นนั้นกันได้อย่างไร เรื่องนี้ทำให้นึกถึงตัวเอง
ผมเป็นเด็กบ้านนอก มาสอบเข้าเรียนในกรุงเทพฯ มาสอบเข้าสองโรงเรียน โรงเรียนแรกเป็นโรงเรียนเอกชนคาทอลิกชื่อดัง ก่อนลงมือทำข้อสอบ มีการให้เด็กกรอกแบบสอบถาม คำถามคือ ท่านคิดว่าผู้ปกครองของท่านสามารถบริจาคเงินให้โรงเรียนได้มากน้อยแค่ไหน โปรดระบุจำนวน
ผมเองรู้สึกโกรธมาก เลยเขียนตอบไปว่า คำถามเช่นนี้ ไม่ควรจะถามนักเรียนก่อนลงมือทำข้อสอบ ถ้าคุณยังมีความเป็นครูที่ดีอยู่ การถามเด็กเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ถึงแม้จะสอบเข้ามาได้เองด้วยความสามารถ ผมก็จะบอกผู้ปกครอง ว่า ไม่ให้บริจาคแม้แต่บาทเดียว เพราะโรงเรียนนี้ครูและผู้บริหารไร้จริยธรรม ไม่แน่ใจว่าเงินบริจาคจะเอาไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ผลคือผมสอบเข้าโรงเรียนเอกชนแห่งนั้นไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผมคือนักเรียนที่สอบได้ที่หนึ่งของจังหวัดและวันนั้นข้อสอบที่ผมทำก็ไม่ได้ยากอะไร คิดว่าทำได้พอสมควร แต่คำตอบแบบนั้นของผมคงไม่ถูกใจผู้บริหารโรงเรียน ผมไม่รู้สึกเสียใจอะไรเลย เพราะคิดว่าดีแล้วที่ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในโรงเรียนแบบนั้นที่ผู้บริหารสนใจเรื่องเงินและเด็กในโรงเรียนก็น่าจะเป็นเด็กที่มีฐานะทางการเงินดี จึงเข้ามาเรียนได้ และคงแข่งกันอวดร่ำอวดรวย
ผมมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ได้ ได้เข้าเรียนในห้องเรียนที่ดีพอสมควรในลำดับต้นๆ เมื่อมารายงานตัว คุณป้ามาด้วยในฐานะผู้ปกครอง อาจารย์ก็ถามตรงๆ ชวนผู้ปกครองบริจาคตามความสมัครใจ มีการกรอกใบรับบริจาค และมีการออกใบเสร็จรับเงินให้อย่างถูกต้อง คุณป้าเองก็เป็นศิษย์เก่าก็เลยบริจาคให้ด้วยความเต็มใจเช่นกัน
ผมว่าเป็นบรรยากาศที่ดี เพราะว่าผมเข้าใจว่าลำพังเงินงบประมาณแผ่นดินของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับการจัดสรรมาก็คงไม่เพียงพอที่จะพัฒนาโรงเรียนให้มีห้องสมุดที่ดี มีห้องคอมพิวเตอร์ และห้องแล็บภาษา หรืออุปกรณ์กีฬาและดนตรีที่ดีเพียงพอสำหรับนักเรียนไม่ได้ ดังนั้น การที่ผู้ปกครองจะช่วยบริจาคให้โรงเรียนด้วยความสมัครใจมีการออกใบเสร็จรับเงินอย่างถูกต้อง และทำอย่างเปิดเผยจึงเป็นสิ่งที่น่าศรัทธาอย่างยิ่ง เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อลูกหลานของตัวเอง
สมัยนี้ผมได้ยินผู้ปกครองเล่ากันเรื่องการวิ่งเต้นเส้นสายเพื่อฝากลูกเข้าโรงเรียนแล้วอดที่จะสงสารและอดที่จะรู้สึกหมั่นไส้ผู้ปกครองไปพร้อมกันไม่ได้ บ้านผมเองในต่างจังหวัดอยู่ใกล้โรงเรียนดังประจำจังหวัดมาก เลยมีคนขอฝากลูกหลานเข้ามาในทะเบียนบ้านก่อนล่วงหน้าหลายปีเพื่อให้จับสลากเข้าโรงเรียนได้ และปัจจุบันนี้ได้ข่าวมาว่าโรงเรียนสาธิตบางแห่งเรียกกันเป็นรถตู้หรูคันละ 4 ล้าน เพื่อเอาลูกเข้าโรงเรียน
อันที่จริงผมเข้าใจเหมือนกันว่าโรงเรียนจำเป็นต้องใช้เงินในการพัฒนาโรงเรียน แต่ทำไมไม่ทำกันอย่างเหมาะสม ประกาศกันให้ชัดๆ มีใบเสร็จ และประกาศเลยว่า ได้เงินมาจากผู้ปกครองคนไหน เท่าไหร่ แสดงบัญชีให้ชัดเจนกันไปเลย และเอาเงินเหล่านั้นไปใช้จ่ายอะไรบ้าง ประกาศให้ทุกคนได้รับทราบ ทำให้โปร่งใส ถูกต้อง แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย และไม่ควรมาถามนักเรียนแบบที่ผมเคยเจอมา
การรับเด็กฝากและเงินบริจาคจะประกาศไปเลยว่า ที่นั่งละอย่างน้อยหนึ่งล้าน จำนวน 50 ที่นั่ง ใช้ระบบเปิดประมูลเลยก็ยังได้ และควรมีแต้มส่วนลดเงินดังกล่าวโดยพิจารณาลดหย่อนให้เด็กฝากที่มีคะแนนสอบหรือผลการเรียนในอดีตค่อนข้างดี
ผมเคยได้ยินมาว่า อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมของรัฐชื่อดังสุดสมัยก่อนเมื่อรับเด็กฝากแบบนี้มา จะเรียกเด็กและผู้ปกครองมาลงนามในใบลาออกไว้ก่อนเลย หากผลการเรียนไม่ดี หรือ เกเร ก็บอกให้ลาออกได้เลย คาดโทษไว้ก่อนจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง วิธีแบบนี้น่าจะดี ทำให้เด็กฝากเจียมเนื้อเจียมตัวและตั้งใจเรียน
ผมยอมรับความเป็นจริงได้ว่าแม้มหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ หากผู้ปกครองมีเงินบริจาคมากก็ยังทำให้เด็กมีโอกาสเข้าเรียนได้มากขึ้นแม้ว่าจะได้คะแนนสอบเข้าไม่ได้ดีมากก็ตามที ในเมื่อสถานศึกษามีความจำเป็นต้องใช้เงิน จะมีเด็กฝากบ้างก็ยังได้ ขอแค่ทำให้ถูกต้อง ในเรื่องการเงิน มีกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการออกมาให้ชัดเจน เงินบริจาคดังกล่าวเอาไปลดหย่อนภาษีได้สองหรือสามเท่าได้ยิ่งดี ทำให้โปร่งใส ถูกกฎระเบียบ เปิดเผย ผมยอมรับได้ แต่ไม่ควรจะมีสัดส่วนของเด็กฝากมากจนเกินไป
นอกจากนี้ การฝากและการบริจาคควรต้องทำก่อนการสอบ และการประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ามาเรียนต้องไม่มีการประกาศว่านักเรียนคนไหนเป็นเด็กฝาก ไม่เช่นนั้นจะเกิดการตีตรา (Labeling) ได้ว่านักเรียนคนนั้นคนนี้เป็นเด็กเส้นหรือเด็กฝาก
การออกมาประกาศว่าไม่มีเด็กฝากและห้ามมีแป๊ะเจี๊ยะอะไรทำนองนี้ ไม่เคยได้ผลจริง และไม่เคยแก้ปัญหาได้ การทำทุกอย่างให้ ถูกต้อง โปร่งใส เปิดเผยต่างหาก ที่น่าจะแก้ไขปัญหาได้