xs
xsm
sm
md
lg

ศมส.ลั่นงานวิจัย “มานุษยวิทยา-สังคม” ไม่ขึ้นหิ้ง พร้อมเปิดบ้านโชว์หนังสือกว่า 1.2 แสนเล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พีรพน” เปิดบ้าน ศมส. ให้ประชาชนรู้จักเพิ่มขึ้น ลั่นงานวิจัยมานุษยวิทยา-สังคม ไม่ขึ้นหิ้ง เร่งยกระดับวิจัยด้านมานุษยวิทยาของประเทศสู่สาธารณะ

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) (องค์การมหาชน) นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวภายหลังแถลงข่าวงาน “เปิดบ้าน ศมส.” ว่า ยอมรับว่า ที่ผ่านมา มีประชาชนรู้จัก ศมส. น้อยมาก เพราะฉะนั้น เมื่อตนได้มีโอกาสเข้ามาร่วมทำงานกับ ศมส. ตนจะขับเคลื่อนงาน ศมส. ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงได้จริง ซึ่งภายใน ศมส. มีห้องสมุดที่มีหนังสือเฉพาะทางทั้งมานุษยวิทยา และด้านสังคม ซึ่งมีหนังสือภาษาไทยและต่างประเทศกว่า 8 หมื่นชื่อ หรือกว่า 120,000 เล่ม ทั้งนี้ ยังสามารถสืบค้นผ่านเว็บไซต์ www.sac.or.th ที่สำคัญ ศมส. ยังเน้นภารกิจ 4 ด้านได้แก่ 1. สนับสนุน ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล ด้านสังคม-วัฒนธรรม ที่เกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2. สร้างเครือข่ายการวิจัยและการพัฒนาข้อมูล 3. บริหารข้อมูลสารสนเทศ และสุดท้ายเป็นแหล่งค้นคว้าและเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ

ผอ.ศมส. กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนงานระยะยาว ศมส. ร่างยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปีเสร็จแล้ว โดยจะเริ่มปี 2561 - 2565 จะเน้นการพัฒนาฐานข้อมูลซึ่งปัจจุบันมีฐานข้อมูลอยู่ 21 ฐาน เช่น ชาติพันธุ์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ประเพณีท้องถิ่น และข้อมูลเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือ สามารถเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมได้ เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการของชุมชนได้ รวมทั้งยกระดับการศึกษาวิจัยด้านมานุษยวิทยาของประเทศสู่สาธารณะ โดยตั้งเป้าหมายที่สร้างองค์ความรู้ที่ ศมส. ได้ศึกษาสำหรับใช้ต่อยอดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งประเพณี วิถีชีวิตในอนาคต

“การทำงานของ ศมส. จะไม่ขึ้นหิ้งอีกต่อไป จะทำให้คนทั่วไปรู้จัก ศมส. ให้รู้ว่ามีตัวตนและทำอะไรบ้าง ซึ่งมีการเผยแพร่งานวิจัยมากมายที่ใกล้ตัวคนและสามารถนำไปใช้งานได้จริงที่เกี่ยวกับชีวิต ล่าสุด ศมส. ได้ทำงานวิจัยเรื่องเพศ ในเรื่องการแชต หาคู่ผ่านแอปพลิเคชัน ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตเรื่องเพศที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและสังคมสมัยใหม่ เป็นต้น โดย ศมส. จะสะท้อนมุมมองในเชิงวิชาการให้ประชาชนได้เห็นสภาพปัญหาของคนในสังคม เพื่อเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด ที่สำคัญจากการศึกษาวิจัยผู้ใช้บริการงานวิจัย ศมส. พบว่า ร้อยละ 70 เป็นนักวิชาการ จากนี้ไปจะขยายกลุ่มผู้ใช้บริการให้มีหลากหลายยิ่งขึ้น” นายพีรพน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น