กรมสุขภาพจิต ชู “กลุ่มครอบครัวสุขใจ” วิธีบำบัดผู้ติดสุราโดยชุมชนมีส่วนร่วมของ รพ.สวนปรุง ช่วยผู้ป่วยหยุดดื่มและลดการดื่มสุราได้จริง ป้องกันการกลับไปดื่มซ้ำ ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น เหลือเงินเก็บมากขึ้น
วันนี้ (16 มิ.ย.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังลงพื้นที่ชุมชนบ้านป่าขุย ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการกลุ่มครอบครัวสุขใจ ในการช่วยบำบัดผู้ติดสุรา ว่า ปัจจุบันรูปแบบการดูแลผู้ติดสุราในระบบสุขภาพ ประกอบด้วย 4 มาตรการหลักคือ 1. ค้นหาผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราให้ได้ตั้งแต่ระยะแรก และให้การดูแลรักษาเบื้องต้น โดยการคัดกรองและบำบัดระยะสั้น 2. มาตรการบำบัดรักษาภาวะถอนพิษสุราและโรคร่วมทางกาย 3. มาตรการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการลด ละ เลิกดื่ม และนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูจิตใจ ป้องกันการกลับมาดื่มซ้ำ และ 4. มาตรการดูแลระยะยาวหลังการรักษา ภายหลังจากผู้ติดสุราถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล และจะได้รับการดูแลต่อเนื่องโดยชุมชน ให้ผู้ป่วยคงอยู่ในสังคมได้โดยไม่ดื่มสุรา ซึ่งมาตรการนี้จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เช่น กลุ่มผู้ติดสุรา พระสงฆ์ แกนนำชุมชน ทีมสุขภาพในพื้นที่ เป็นต้น
“กลุ่มครอบครัวบำบัดสุขใจถือเป็นรูปแบบการบำบัดทางเลือกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเหลือให้ผู้ติดสุราลด ละ เลิกพฤติกรรมการดื่มสุราได้ และช่วยให้ผู้ติดสุราและสมาชิกในครอบครัวสามารถทำหน้าที่ตัวเองได้ดีขึ้น โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยให้ผู้ติดสุราหายแล้วมีการสร้างสรรค์ผลงาน ถือเป็นการแก้ปัญหาการดื่มสุราอย่างเป็นระบบและครอบคลุมที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว
นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ผู้ป่วยบำบัดสุรามักจะเจอปัญหากลับไปดื่มซ้ำ ซึ่งการดูแลโดยชุมชนจะช่วยในเรื่องของการบำบัดในระยะยาวไม่ให้กลับไปดื่มซ้ำ โดยกลุ่มครอบครัวบำบัดสุขใจ ผู้ป่วยและครอบครัวจะเข้ากลุ่มทำกิจกรรม 3 ชุด คือ ชุดกิจกรรมที่ 1 จะเข้ากลุ่มสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้ละ 60 - 90 นาที รวม 10 ครั้ง เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปรับทัศนคติ ความเชื่อเกี่ยวกับสุราและผลกระทบ ฝึกทักษะการสื่อสาร รู้บทบาทหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว สร้างแรงจูงใจและตั้งเป้าหมายลดละเลิกดื่มสุรา กิจกรรมชุดที่ 2 จะเป็นสมาชิกที่ผ่านกิจกรรมชุดที่ 1 เข้ากลุ่มครั้งละ 60 - 90 นาที รวม 3 ครั้ง เพื่อต่อยอดความรู้และประสบการณ์ในการแก้ปัญหาการดื่มสุรา ในประเด็นที่สมาชิกยังไม่เข้าใจ เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพิ่มแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตทางบวก ลดละเลิกดื่มสุราต่อเนื่อง ในรายที่กลับไปดื่มซ้ำ จะไม่ตำหนิแต่ให้กำลังใจ ซักถามปัญหาอุปสรรคและร่วมกันแก้ปัญหา และกิจกรรมชุดที่ 3 จะเป็นสมาชิกที่ผ่านกิจกรรมชุดที่ 2 และผู้สนใจอาศัยอยู่ในชุมชน เข้ากลุ่มครั้งละ 2 - 3 ชั่วโมง รวม 3 ครั้ง เน้นชุมชนเห็นความสำคัญและเกิดความตระหนักในวิกฤตปัญหาสุรา แนะนำกลุ่มครอบครัวสุขใจในการแก้ปัญหา ให้สมาชิกที่ผ่านเข้ากลุ่มแบ่งปันประสบการณ์ โดยมีผู้นำกลุ่มเป็นพยาบาลจิตเวชที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการทำกลุ่มครอบครัวบำบัดผู้ติดสุรา จากประเทศศรีลังกา เป็นผู้นำกระบวนการกลุ่ม
“จากการพัฒนากลุ่มครอบครัวสุขใจ โดย รพ.สวนปรุง เมื่อปี 2557 ศึกษานำร่องในชุมชน ผู้ติดสุรา 28 คน พบว่า ภายหลังเข้าร่วมกลุ่มครอบครัวสุขใจ ผู้ติดสุราสามารถหยุดดื่มสุราได้ 12 คน คิดเป็นร้อยละ 42.85 และจากการศึกษาประสิทธิผลของกลุ่มครอบครัวสุขใจต่อพฤติกรรมการดื่มสุราและการทำหน้าที่ครอบครัวในผู้ติดสุรา ศึกษาในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง จ.ลำพูน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 คน ศึกษาตั้งแต่ เม.ย. 2559 - มี.ค. 2560 พบว่า ช่วยผู้ติดสุราสามารถหยุดดื่มสุรา 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 47.50 ช่วยลดดื่มสุราได้ 16 ราย คิดเป็นร้อยละ 40 และทำให้การทำหน้าที่ของครอบครัวของกลุ่มตัวอย่างดีขึ้น 33 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.5 ทั้งยังช่วยให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น มีความรู้เกี่ยวกับสุรามากขึ้น และเหลือเงินเก็บในครอบครัวมากขึ้น” ผอ.รพ.สวนปรุง กล่าว