xs
xsm
sm
md
lg

โพสต์-แชร์คลิปความรุนแรง ทำเด็กยุคใหม่ชินชา มองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต ห่วงโพสต์ - แชร์คลิปความรุนแรงบ่อยๆ ทำเด็กยุคใหม่ชินชา เสพติดความรุนแรง มองเป็นเรื่องโก้เก๋ แนะลดพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัว ทั้งทางร่างกาย วาจา ช่วยลดความรุนแรงในเด็กได้ ให้ความรักอย่าปล่อยให้เด็กรู้สึกถูกทอดทิ้ง

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเผยแพร่ออกไปได้อย่างรวดเร็วผ่านโลกโซเชียล มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดสร้างความขัดแย้ง ความรุนแรง ความหวาดระแวง และความตื่นตระหนกให้กับสังคมตลอดจนสร้างบาดแผลทางจิตใจให้เกิดขึ้นได้ อาทิ การโพสต์คลิปความรุนแรงรูปแบบต่างๆ บนโลกโซเชียล ที่การควบคุมกำกับการเข้าถึงสื่อทำได้ยาก เด็กและเยาวชนจึงเข้าถึงคลิปความรุนแรงได้ง่าย ผลกระทบที่ตามมาจึงมากตามไปด้วย ทั้งนี้ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อพบเห็นบ่อยๆ ย่อมรู้สึกชินชา มองเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และปัจจุบันพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในหลายพฤติกรรมสะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนไปตามสื่อ เมื่อเห็นความรุนแรง ทะเลาะวิวาท ตบตีชกต่อยกันบ่อยๆ เป็นเรื่องที่สะใจ มีคนเชียร์ มีคนกดไลก์ พฤติกรรมการเลียนแบบและแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงโดยไม่รู้ตัวจึงเกิดขึ้นตามมาได้ เนื่องจากเห็นบ่อยๆ จนชินชา มีมุมมองว่าเรื่องความรุนแรงเป็นสิ่งดี โก้เก๋ กลายเป็นแฟชั่น เป็นต้น

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สำหรับผู้ที่โพสต์คลิปความรุนแรงต่างๆ เป็นประจำ บางคนอาจมีที่มาจากการเป็นคนที่ชอบความตื่นเต้น รุนแรง หวือหวา โดยธรรมชาติ หรือเคยเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงมาก่อน จึงใช้วิธีการโพสต์คลิปความรุนแรงเป็นเหมือนการพยายามจัดการกับความรู้สึกตัวเองที่ถูกกระทำ หรือเป็นผู้กระทำคนอื่นๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาขณะเดียวกัน หรืออาจเป็นผู้หวังดี อยากเตือนสังคมให้ระวังตัว โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่นึกว่าการโพสต์ให้เห็นสถานการณ์รุนแรงต่างๆ นั้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ เป็นต้น ดังนั้น การจะโพสต์จะแชร์สิ่งใดๆ ผ่านโลกโซเชียลจึงจำเป็นต้องมีสติให้มาก

“สำหรับแนวทางลดความรุนแรงต่างๆ ในสังคม แนะว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญมากที่สุด เพราะพื้นฐานพฤติกรรมของเด็กมาจากครอบครัว ซึ่งครอบครัวอาจกระทำความรุนแรงกับเด็กโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้น คือความรุนแรงที่จะส่งผลกระทบกับเด็กในระยะยาว ได้แก่ ความรุนแรงด้านร่างกายที่เห็นได้ชัดจาก การตบตี หรือการเตะ เป็นต้น ถ้าเด็กถูกเลี้ยงด้วยความรุนแรง โตขึ้นก็จะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านเพศ คือ การละเมิดทางเพศ ที่พบเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ความรุนแรงด้านวาจาซึ่งครอบครัวมักไม่ทราบว่าเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง ที่ได้กระทำทุกวัน ส่งผลต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กในอนาคตได้ทั้งการตำหนิ ต่อว่า เปรียบเทียบ หรือถูกบ่นตลอดเวลา ที่เป็นการตอกย้ำความแย่ ความไม่ดีของเด็ก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของความดื้อ เป็นวงจรการสร้างเด็กเกเรในอนาคต” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ความรุนแรงทางอารมณ์จากการทอดทิ้งซึ่งเป็นอีกข้อที่สำคัญมากที่ครอบครัวอาจคิดไม่ถึง เด็กที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ต้องการและถูกรัก ย่อมจะเติบโตเป็นคนที่มีความเมตตาต่อผู้อื่นเป็น แต่เด็กที่ถูกละเลย หรือถูกทอดทิ้งจะคิดถึงคนอื่นไม่เป็น จึงสามารถใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นโดยไม่คิดว่าผู้อื่นจะเป็นอย่างไร ครอบครัวปัจจุบันมีการละเลยเด็ก โดยไม่รู้ตัว มองภายนอกเหมือนเป็นครอบครัวที่อบอุ่น แต่ภายในจริงๆ ขาดการพูดคุย ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างเรียน ต่างคนต่างแก้ไขปัญหาของตัวเอง ต่างคนต่างอยู่กับมือถือและโลกโซเชียลของตัวเอง ทำให้ขาดความผูกพันในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว เป็นสาเหตุของพฤติกรรมรุนแรงเมื่อโตขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างชอบโพสต์ชอบดูคลิปความรุนแรง แล้วเครียด ไม่รู้จะทำอย่างไร แนะนำให้ โทร.สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทร.ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น