วิทยาลัยนาฏศิลป์ - ร.ร.กีฬา หลุดจากระบบป้องกัน “ท้องวัยรุ่น” เหตุ พ.ร.บ. ไม่ครอบคลุม เร่งประสาน วธ.- ก.ท่องเที่ยวฯ ใช้กฎกระทรวง ศธ. ต้นแบบออกระเบียบดูแลท้องวัยรุ่น “โรงเรียน” ในสังกัด ด้านกรมอนามัยชง คกก. ป้องกันท้องวัยรุ่น ตั้งบอร์ดวิชาการศึกษารูปแบบลดท้องวัยรุ่นที่เหมาะสมกับไทย หลังอังกฤษทำสำเร็จลดได้ 50% ใน 10 ปี
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ว่า ในเรื่องของการจัดบริการการศึกษา ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกกฎกระทรวงเพื่อบังคับโรงเรียนทุกแห่งในสังกัดต้องดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว เช่น จะมีการจัดการศึกษาเรื่องเพศวิถีอย่างไร ถ้ามีวัยรุ่นท้องจะทำอย่างไร หากเรียนต่อโรงเรียนต้องดำเนินการอย่างไร หรือขอย้ายโรงเรียนต้องจัดบริการให้วัยรุ่นอย่างไร อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในเรื่องนี้ พบว่า มีโรงเรียนที่หลุดจากระบบที่วางไว้ของ พ.ร.บ. อีก 2 แห่ง คือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และโรงเรียนกีฬา สังกัดสถาบันการพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะ พ.ร.บ. ไม่ได้ครอบคลุมถึง 2 กระทรวงนี้ว่าต้องดำเนินการ
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (บอร์ดป้องกันท้องวัยรุ่น) ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการหารือว่าจะออกเป็นคำสั่งในนามบอร์ด เพื่อให้ พ.ร.บ. ครอบคลุมโรงเรียนอีก 2 กระทรวงได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้มีการประสานไปยัง 2 กระทรวงแล้ว ว่า สามารถนำหลักเกณฑ์ที่ออกโดย ศธ. ไปปรับใช้ในการออกกฎกระทรวงหรือออกระเบียบเพื่อดูแลนักเรียนของโรงเรียนในสังกัดได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบ และเพื่อให้วัยรุ่นทั้งหมดที่ยังอยู่ในระบบของโรงเรียนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม
“สำหรับกรมอนามัย ในฐานะเลขานุการของบอร์ด จะมีการติดตามการดำเนินงานภายหลังออกกฎกระทรวงว่า เขียนแล้วแต่ละกระทรวงสามารถทำได้หรือไม่ เกิดอุปสรรคหรือไม่ แต่จากการหารือกับประเทศอังกฤษได้มีข้อเสนอ ว่า ไทยควรมีการตั้งบอร์ดทางวิชาการในการให้คำแนะนำการดำเนินการลดตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยบอร์ดวิชาการจะทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและหาแนวทางให้แก่บอร์ด ว่า การแก้ปัญหาท้องในวัยรุ่นแต่ละบริบท แต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่ม ควรมีแนวทางอย่างไร จึงจะประสบความสำเร็จ โดยเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดกับแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งแนวทางนี้ทางบอร์ดก็เห็นด้วย ซึ่งกรมอนามัยก็ต้องไปดำเนินการในการจัดตั้งบอร์ดวิชาการนี้ขึ้น ซึ่งอังกฤษระบุว่า ถือเป็นคีย์สำคัญที่ทำให้อังกฤษประสบความสำเร็จลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงถึง 50% ภายใน 10 ปี แม้ช่วง 5 ปีแรกจะไม่ลดเลยก็ตาม เพราะเป็นช่วงศึษาหาข้อมูลรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเมื่อเจอรูปแบบที่เหมาะสมก็พบว่าสามารถลดอัตราตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงได้มาก ซึ่งประเทศไทยก็ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดเช่นกัน” นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่อำเภอ อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งจะดูแลเรื่องสวัสดิการการช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ ที่ผ่านมา จะเน้นการตั้งรับโดยรอให้วัยรุ่นที่มีปัญหาเดินเข้ามา ซึ่งการบูรณาการทำงานร่วมกัน ก็จะช่วยให้คนทำงานช่วยหากลุ่มเสี่ยงเจอได้เร็วขึ้น เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน และมีการประสานดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อำเภออนามัยเจริญพันธุ์เดินหน้าแล้วกว่า 70% โดยปีนี้ตั้งเป้าจะขยายอำเภออนามัยเจริญพันธุ์ให้ครบ 100%