สำรวจพบ “สามเณร” ท่องเน็ตวันละ 1 - 3 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เล่นเกมและใช้ติดตามข่าวสาร เผยใช้เทคนิค “พุทธจิตวิทยา” จัดอบรมรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ใช้วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ พร้อมจัดกิจกรรมทำโครงงาน ช่วยสามเณรควบคุมตนเอง ลดการใช้โซเชียล ใช้อย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ได้
ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยเติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต วิธีคิด ค่านิยม รูปแบบการดำเนินชีวิต โดยพบว่า เยาวชนวัยรุ่นมีพฤติกรรมการใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์เพื่อความบันเทิงมากกว่าแสวงหาความรู้ การใช้สื่อไม่เหมาะสมหลายรูปแบบ เช่น การเปิดและรับสื่ออนาจาร การสื่อสารคำพูดรุนแรง การแบ่งปันภาพไม่เหมาะสม การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดอาชญากรรม การล่อลวงต่างๆ สะท้อนให้เห็นการใช้เทคโนโลยีที่ ขาดการพิจารณารู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะสามเณรผู้เป็นศาสนทายาท ซึ่งที่ผ่านมามักปรากฏข่าวด้านลบเกี่ยวกับการใช้สื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่เหมาะสม รวมถึงเกิดกระแสความโต้แย้งในเชิงความเหมาะสมและพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ขัดต่อพระวินัยของนักบวชหรือไม่ และยังส่งผลต่อภาพลบในความเสื่อมใสศรัทธาต่อคำสอนทางพระพุทธศาสนา
ดร.กมลาศ กล่าวว่า ตนและคณะจึงทำการวิจัยเรื่อง “ค่านิยมและพฤติกรรมต้นแบบการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยาของสามเณร” ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 15 โรง ใน จ.น่าน ซึ่งจากการสำรวจสภาพปัญหาและพฤติกรรมใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสามเณร พบว่า สามเณรส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 1 - 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อความเพลิดเพลินและติดตามข่าวสารเพื่อนในสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยา โดยใช้วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ เช่น วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม ฝึกควบคุมตนเองในสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ผ่านชุดกิจกรรม 18 กิจกรรม คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนำร่อง 3 โรงเรียน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม และกลุ่มควบคุม 1 กลุ่ม และการทำโครงงาน (Project based Learning) ในวัดหรือโรงเรียนเป็นเวลา 4 เดือน
ดร.กมลาศ กล่าวว่า จากการอบรมดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้สามเณรได้รู้จักตนเอง รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง และเป็นการพัฒนาตนเองทั้งในระดับ กาย ศีล จิต และปัญญา โดยสามเณรมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและพฤติกรรมต่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เหมาะสม 4 ด้านสูงกว่าก่อนได้เข้าโครงการอบรม ได้แก่ มีเหตุผลในการคิด มีการควบคุมตนเอง มีค่านิยมพฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยาเพิ่มสูงขึ้น และสามารถจัดทำโครงงานและนำเสนอให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจได้ เช่น โครงงานไม่เหลียวไม่แลแไม่แคร์บุหรี่ โครงงานการใช้โทรศัพท์ให้ถูกที่ถูกเวลา เป็นต้น และสามเณรยังเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 4 ด้านด้วยกัน คือ 1. ด้านกาย มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ทำให้สุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใสเบิกบาน ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์มากขั้น 2. ด้านศีล มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนดีขึ้น มีความสามัคคี รู้จักการสื่อสาร เพื่อชักจูงและชักนำในการพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกิดความรู้สึกรักและผูกพันกับสถานศึกษา เกิดสัมพันธภาพที่ดี ทำให้มีความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน 3. ด้านจิตใจ สามเณรสามารถควบคุมตนเองได้ มีสมาธิในการเรียนดีขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น จิตใจแจ่มใสเบิกบาน มีความกล้าในแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเองมากยิ่งขึ้น และ 4. ด้านปัญญา จากการฝึกปฏิบัติผ่านกิจกรรมโครงงานทำให้ได้ประสบการณ์ตรงรู้จักประโยชน์ที่แท้จริงของสื่อสังคมออนไลน์ และนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์
“การพัฒนาค่านิยมและพฤติกรรมต้นแบบการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เหมาะเหมาะ จะต้องออกแบบกิจกรรมผ่านการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยและความเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคม ผ่านกระบวนการฝึกฝนให้เยาวชนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ก่อให้เกิดกระบวนเปลี่ยนแปลงวิธีการคิด รู้จักการควบคุมตนเอง และนำหลักธรรมมาปรับใช้กับกิจกรรมให้เกิดการตระหนักรู้เท่าทันสื่อ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คือ กัลยาณมิตร ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู และเพื่อนสามเณรในโรงเรียน การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด โดยใช้หลักโยนิโสมนสิการ เพื่อรู้จักใช้สื่อในทางสร้างสรรค์ และการทำโครงงาน นำไปสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์” ดร.กมลาศ กล่าว