กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ย้ำ นายจ้างต้องจัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าให้ลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับไฟฟ้า 3 หัวข้อ ในแง่กฎหมายความปลอดภัย - สาเหตุและการป้องกันอันตราย - การให้ความช่วยเหลือ
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร. ได้กำหนดให้ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าต้องผ่านการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า เพื่อให้ลูกจ้างมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นในการทำงาน และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 โดยนายจ้างจะต้องจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อวิชาดังนี้
1. กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า 2. สาเหตุและการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล 3. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้า และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่ในกรณีที่มีความเสี่ยงจากลักษณะงานอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น การทำงานในที่สูง การทำงานในบริเวณที่อาจเป็นอันตราย นายจ้างอาจจัดให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมและหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้
อธิบดี กสร. กล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมด้วยตัวเอง แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ สามารถจัดหาวิทยากรจากหน่วยงานภายนอกที่มีคุณสมบัติตามที่กสร. กำหนด หรือให้ผู้ที่ขึ้นทะเบียน ได้รับใบอนุญาตจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้อบรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการกำหนดการขึ้นทะเบียนและใบอนุญาต นอกจากนี้ ลูกจ้างที่ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถือว่าเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมของ กสร. ด้วย ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ