กรมสุขภาพจิต ชี้ เด็กไทย 20 ปีข้างหน้า ต้องมี 3 คิว “ไอคิว - อีคิว - เอ็มคิว” เพิ่มปลูกจริยธรรมป้องกันอาชญากรวัยรุ่น หลังพบเด็กและเยาวชนกระทำผิดปีละ 4 - 5 หมื่นคดี แถมอายุน้อยลงเรื่อยๆ ตั้งเป้าพัฒนาคนไทยรุ่นใหม่เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ มีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างยุทธศาสตร์สุขภาพจิตแห่งชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560 - 2579 ซึ่งเป็นแผนบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพสุขภาพจิตคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ กำหนดเป้าหมายให้คนไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า มีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข และอยู่ในสังคมอย่างทรงคุณค่า เป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลก ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. การส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต 2. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเร็วขึ้น จะเพิ่มโอกาสหายสูงขึ้น 3. การขับเคลื่อนและผลักดันมาตรการทางกฎหมาย สังคม และสวัสดิการต่างๆ เช่น การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่มีญาติ การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำ การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเผยแพร่ข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชในสื่อทุกประเภท 4. พัฒนากลไกการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต และ 5. การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทั้งด้านการรักษา การส่งเสริม การป้องกันโรค และลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติได้เสนอ 4 ประเด็นให้บรรจุในร่างยุทธศาสตร์ฯ ด้วย ได้แก่ 1. เพิ่มเรื่องเอ็มคิว (Moral Quotient : MQ) เพื่อปลูกฝังด้านจริยธรรม คุณธรรมให้แก่เด็กไทยที่เกิดในยุคดิจิตอล เป็นวัคซีนป้องกันปัญหาอาชญากรเด็กและวัยรุ่นในอนาคต ซึ่งข้อมูลปัจจุบันนี้ พบว่า เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดที่มีปีละ 40,000 - 50,000 คดี มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ และเป็นเด็กที่มีครอบครัวไม่ใช่เด็กเร่ร่อนเหมือนในอดีต ซึ่งเอ็มคิวนี้จะทำให้เด็กมีศีลธรรม ละอายต่อการกระทำผิด ทำบาป สามารถสร้างเอ็มคิวได้จากการเลี้ยงดูกล่อมเกลาจากครอบครัว ดังนั้น ต้นทุนชีวิตของลูกหลานไทยในยุคดิจิตอลทุกคนจะต้องมีอย่างน้อย 3 คิว คือ ไอคิว (IQ) อีคิว (EQ) และ เอ็มคิว (MQ) คือ มีสมองดี อารมณ์ดี มีศีลธรรมประจำใจด้วย
2. มีระบบส่งเสริมพัฒนาเด็กไทยที่มีไอคิวสูง หรือที่เรียกว่า เด็กอัจฉริยะ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 5 ของเด็กไทย เพื่อให้เป็นผู้นำในการสร้างผลผลิตของประเทศไทยในอนาคตอย่างจริงจัง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยให้แกร่งขึ้น ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศดำเนินการแล้วทั้งในเอเชีย อเมริกา 3. การบรรจุวิชาสุขภาพจิตเข้าในหลักสูตรการเรียนการของกระทรวงศึกษาธิการ ให้นักเรียนมีความรู้เรื่องของสุขภาพจิต ปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง รู้จักความผิดปกติจิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม และเข้ารับบริการรักษาได้เร็ว จะส่งผลดีต่อคุณภาพการรักษา สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งจะเป็นการเสริมระบบการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น และ 4. การออกแบบระบบความปลอดภัยของโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีคดีอย่างเหมาะสม ซึ่งขณะนี้กรมสุขภาพจิตอยู่ระหว่างปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯ ให้สมบูรณ์แบบ คาดว่า จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เพื่อพิจารณาในปลายเดือนนี้ เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประกาศใช้