สธ. ชู “รพ.อุบลรัตน์” ต้นแบบ รพ. ประชารัฐ ดึง ปชช. มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ รพ. บริจาควันละ 3 บาท หรือปีละ 1,000 บาท เมื่อป่วยใช้ห้องพิเศษฟรี เตรียมขยาย รพช. 38 แห่งใน ก.ย. นี้ ก่อนดำเนินการ รพช. ทุกแห่งเป็น รพ. ประชารัฐ ในปี 2562
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายโรงพยาบาลประชารัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่คณะปฏิรูปโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เสนอขอรับการสนับสนุนจาก สธ. ว่า สธ. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลประชารัฐ ได้มอบนโยบายให้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นหลักในการทำงาน คือ เข้มแข็งจากภายใน เติบโตไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล โดยคนในพื้นที่รู้สึกเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่างๆ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพระดับอำเภอ ที่เน้นการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทุกภาคส่วน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการในโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พบว่า ได้ผลดี โดยเปลี่ยนวิธีคิดและการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงพยาบาล ให้ประชาชนร่วมบริจาควันละ 3 บาท หรือ ปีละ 1,000 บาท เมื่อป่วยสามารถใช้ห้องพิเศษฟรี ประสานภาคเอกชนรับผู้ป่วยที่พิการเข้าทำงาน และเชิญชวนบริษัทที่พร้อมทำธุรกิจที่ตอบแทนต่อสังคม ร่วมกับกรรมการสุขภาพอำเภอ และคลินิกหมอครอบครัว เริ่มระยะ 1 ตั้งแต่กรกฎาคม 2560 - กันยายน 2560 ในโรงพยาบาลชุมชน 38 แห่ง ระยะที่ 2 ตุลาคม 2560 - กันยายน 2561 ขยายเพิ่มจังหวัดละ 1 อำเภอทุกจังหวัด และระยะที่ 3 ตุลาคม 2561 - กันยายน 2562 จะขยายผลในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ โรงพยาบาลชุมชนถือเป็นหัวใจของระบบสุขภาพระดับอำเภอ มีการทำงานเชื่อมต่อส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปอย่างไร้รอยต่อ และรับดูแลผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤต และมีอาการคงที่กลับมาดูแลฟื้นฟู โดยเฉพาะ 3 โรคสำคัญ คือ โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่สมอง และการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เพื่อช่วยลดการนอนรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ ผู้ป่วยได้รับการดูแลฟื้นฟูจากทีมหมอครอบครัวสหวิชาชีพต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจนถึงบ้าน ทั้งด้านการทำกายภาพบำบัด โภชนาการ สอนญาติในการดูแลผู้ป่วย เพื่อช่วยลดความพิการ หรือบางรายหายเป็นปกติกลับไปทำงานเป็นพลังของสังคมได้