xs
xsm
sm
md
lg

9 มิ.ย.ฤกษ์ลงสีจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ช่างสิบหมู่ ถือฤกษ์ลงสีจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม 9 มิ.ย. ระดมช่างเขียน - ศิษย์เก่า - ศิษย์ปัจจุบัน วิทยาลัยช่างศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง กว่า 100 ชีวิต ช่วยปฏิบัติงาน เน้นลงสีบันทึกเหตุการณ์จริง ร.๙ เสด็จ 46 โครงการพระราชดำริ

นายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญสํานักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้าการจัดสร้างจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งทรงธรรมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า หลังจากจัดทำภาพร่างลายเส้นต้นแบบจิตรกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 46 โครงการใน 3 ผนังเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ได้ติดตั้งผ้าใบแคนวาสบนผนังจำลองตามขนาดพื้นที่ของผนังพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งได้จำลองไว้ที่อาคารประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม โดยล่าสุดได้ขยายภาพลายเส้นขนาดเท่าจริง 46 โครงการ และดำเนินการผนึกเนื้อหาลงบนผนังทั้ง 3 ด้านแล้ว นอกจากนี้ตนได้ประสานสถาบันการศึกษา 2 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยช่างศิลป์ ลาดกระบัง สังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รับผิดชอบผนังที่ 3 เสนอเรื่องราวพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง กับภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 14 โครงการ โดยมีการหารือร่วมกันเรื่องกระบวนการดำเนินงานหลังผนึกภาพลายเส้นแล้ว จะเริ่มวางศิลาฤกษ์ลงสีวันที่ 9 มิถุนายน 2560 อาจจะลงสีภาพรวมหรือลงสีเป็นตอนๆ ก่อน จากนั้นจะนัดทีมงานมาลงสี

ส่วนผนังที่ 2 เสนอเรื่องราวโครงการพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน รวมทั้งหมด 13 โครงการ ได้ประสานและหารือเบื้องต้นกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง เพื่อให้มีส่วนร่วมลงสีผนังที่ 2 แต่ยังไม่ได้กำหนดวันลงสี

นายมณเฑียร กล่าวว่า สำหรับผนังที่ 1 ซึ่งเป็นผนังที่สำคัญที่สุด เนื้อหามากที่สุด และมีขนาดใหญ่ที่สุด โดยอยู่ในตำแหน่งด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม น้อมนำเรื่องราวโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 19 โครงการ ซึ่งมอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ ข้าราชการ และจิตอาสา ช่วยปฏิบัติงาน

“สำหรับการทำงานลงสีแต่ละผนังจะอยู่ในความควบคุมของผู้ออกแบบจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งทรงธรรม ทีมงานจาก 2 สถาบันการศึกษา ช่างสิบหมู่ และจิตอาสาจะดำเนินงานตามแบบที่เราเขียนทั้งหมด เป็นภาพจิตรกรรมที่บันทึกเหตุการณ์ปัจจุบันเกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริที่มีอยู่จริง การลงสี หรือให้เนื้อสีจะบันทึกเหตุการณ์จริงที่ในหลวง ร.๙ เสด็จพระราชดำเนินโครงการต่างๆ ฉลองพระองค์ การลงสีสถาปัตยกรรมของอาคารก็เช่นกัน ไม่เหมือนกับงานจิตรกรรมไทยประเพณีแบบโบราณที่เราสมมติสร้างรูปแบบและสีขึ้นเอง การลงสีจะใช้สีอะคริลิกคุณภาพดี เกรดเอ จากประเทศฝรั่งเศส ส่วนเขียนภาพลงผ้าใบแคนวาสจากอินเดีย ซึ่งคาดว่า ทั้ง 3 ผนังจะมีผู้ร่วมลงสีกว่า 100 คน เพราะผนังแต่ละด้านขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกันยายนนี้” นายมณเฑียร กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น