จิตแพทย์ ชี้ “ผู้หญิง” อ่อนไหวง่าย เรี่ยวแรงน้อย ก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญยากกว่าผู้ชาย แต่หากเสพความก้าวร้าวรุนแรงมาตลอด จนจิตใจหยาบกระด้าง มีสิทธิก่อเหตุได้ เผย สารเสพติดมีส่วนด้วย
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวถึงการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ ว่า เนื่องจากสรีระและสภาพจิตใจของผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกัน โดยผู้หญิงจะมีความอ่อนไหวและสะเทือนใจกับความรุนแรงมากกว่า ขณะที่พละกำลังก็น้อยกว่า ทำให้พบว่า การก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญส่วนมากจึงเป็นผู้ชายเป็นฝ่ายกระทำ อย่างการหั่นศพที่ต้องเห็นเลือด เห็นเนื้อ ผู้หญิงจะมีความอ่อนไหว สะเทือนใจมากกว่า อย่างไรก็ตาม มนุษย์เป็นผู้ที่มีความพิเศษที่สามารถปรับตัวได้ ผู้หญิงที่สัมผัสกับความรุนแรง ความก้าวร้าวมาตลอด มีการหล่อหลอมมาจากความรุนแรง จะทำให้มีจิตใจที่หยาบกระด้างและสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้เหมือนกัน ซึ่งความก้าวร้าว หยาบกระด้างนั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ แต่เป็นพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา
พญ.อัมพร กล่าวว่า เรื่องการใช้สารเสพติด ก็มีผลทำให้ผู้หญิงก่อความรุนแรงได้เช่นกัน หากเป็นการเสพในระยะสั้น สารบางตัวจะทำให้เกิดการรับรู้แบบหยาบๆ ไม่มีความยั้งคิด สารบางตัวทำให้มีเรี่ยวแรงมากขึ้น ฮึกเหิม ยิ่งหากเสพสารเหล่านี้ไปนานๆ เข้าจะทำให้อารมณ์ ความรับรู้ผิดเพี้ยน เป็นคนเฉยชา ไร้อารมณ์ได้
“การป้องกันลูกหลานไม่ให้กลายเป็นยุวอาชญากรนั้น การเลี้ยงดูเด็กให้เป็นคนดีไม่ใช่เรื่องยาก แต่มีความสำคัญเบื้องต้นอยู่ที่ครอบครัว ต้องเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เข้าใจ ให้ความรัก การเอาใจใส่ให้เด็กรู้ว่าตัวเองมีคุณค่าและจะตอบกลับคนอื่นๆ ด้วยความรัก มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยพ่อแม่ต้องเป็นผู้สร้างค่านิยมเหล่านี้ และทำให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดี การใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือการใช้ความรุนแรงกับเด็ก จะทำให้เด็กคิดว่าความรุนแรง คือ ทางแก้ปัญหา และโตมาเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด” พญ.อัมพร กล่าว