วิจัยพบปั่น “จักรยาน” ทำเจ็บเข่า - น่องมากสุด ตามด้วยสะโพก ต้นขา และ หลัง เหตุเลือกจักรยานไม่เหมาะกับรูปร่าง ไม่ปรับอานให้เข้ากับช่วงขา พ่วงขับขี่ไม่ถูกท่า อึ้ง! เกือบครึ่งไม่ยืดเหยียดก่อนปั่น ห่วงเจ็บแบบปานกลางถึงเล็กน้อย ปล่อยให้หายเอง ส่งผลเจ็บเรื้อรังเมื่อปั่นซ้ำ ชี้ “กลุ่มวัยรุ่น” ปั่นทางสั้นๆ เน้นเฮฮา ขาดความรู้การปั่นถูกวิธี ต่างจาก “กลุ่มสูงอายุ” ฮิตปั่นทางไกล เตรียมตัวดี
นายจิรเดช อย่าเสียสัตย์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นำเสนอการศึกษา “ความชุกของความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกของผู้ปั่นจักรยานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ในงานประชุมวิชาการการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 5 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากการศึกษากลุ่มผู้ปั่นจักรยานจำนวน 580 คน ใน 10 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า กลุ่มอายุที่ปั่นจักรยานมากที่สุดคือ กลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 33.1 รองลงมาคือ กลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 18.4 ใช้จักรยานแม่บ้านมากสุดร้อยละ 37.6 รองลงมาคือ จักรยานเสือภูเขา ร้อยละ 30 และจักรยานเสือหมอบร้อยละ 21.2 ระยะเวลาในการปั่นต่อครั้งมากกว่า 90 นาที ร้อยละ 42.2 และประมาณ 45 - 60 นาที ร้อยละ 41.2 นิยมปั่นประมาณ 3 - 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 35.7 โดยระยะทางในการปั่นจักรยานต่อครั้งพบว่า ร้อยละ 30.3 ปั่นเกินกว่า 20 กิโลเมตร ร้อยละ 24.8 ปั่นระยะทาง 6 - 10 กิโลเมตร และร้อยละ 23.4 ปั่นระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร ส่วนการยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายพบว่า มีสัดส่วนพอๆ กัน คือ ทำก่อนออกกำลังกาย ร้อยละ 56.4 และไม่ทำ ร้อยละ 43.6
นายจิรเดช กล่าวว่า สำหรับความผิดปกติจากการปั่นจักรยาน พบว่า เกิดที่เข่าและน่องสูงสุด ร้อยละ 28.5 รองลงมา คือ สะโพกและต้นขา ร้อยละ 24.4 หลังส่วนล่าง ร้อยละ 13.4 เท้าและข้อเท้า ร้อยละ 9 คอ ร้อยละ 7.1 ไหล่และสะบัก ร้อยละ 6.8 หลังส่วนบน ร้อยละ 3.9 และแขนหรือข้อศอก ร้อยละ 2.2 ลักษณะการบาดเจ็บ คือ กล้ามเนื้อตึง ร้อยละ 85.6 กล้ามเนื้อหรือเอ็นอักเสบ ร้อยละ 7.6 เกิดแผล ร้อยละ 4.4 และกล้ามเนื้อฉีก ร้อยละ 2.4 ส่วนใหญ่ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บอยู่ระดับปานกลาง ร้อยละ 44.6 ระดับน้อย 41.7 และระดับมาก ร้อยละ 13.7 เกือบทั้งหมดระยะเวลาของอาการคือประมาณน้อยกว่า 7 วัน ร้อยละ 95.4 การรักษาปล่อยให้หายเองมากที่สุด ร้อยละ 35.9 รับประทานยาบรรเทาอาการเอง ร้อยละ 15.9 นวด ร้อยละ 13.7 กายภาพบำบัด ร้อยละ 13.7
“อาการผิดปกติเหล่านี้เกิดจากการเลือกจักรยานที่ไม่เหมาะสมกับรูปร่าง เช่น อานที่ไม่พอดีกับช่วงขา จะส่งผลต่อการยืดเหยียดเข่าและขา ทำให้เกิดอาการตึง หรือการจัดท่าทางในการปั่นที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นมาได้ ซึ่งเมื่อดูตามกลุ่มอายุพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 61 ปีขึ้นไป มักเป็นกลุ่มปั่นจักรยานอย่างจริงจัง เป็นลักษณะของชมรมปั่นจักรยาน ปั่นทางไกล โดยระยะทางปั่นจะมากกว่า 10 - 15 กิโลเมตรต่อครั้ง นิยมใช้จักรยานเสือภูเขาและเสือหมอบ จึงเป็นกลุ่มที่มีการเตรียมตัว มีการศึกษาก่อนการปั่นจักรยานที่ดี เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ เช่น ซื้อจักรยานที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการซื้อ มีการศึกษาวิธีการปั่นที่ถูกต้อง เป็นต้น ส่วนกลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี จะเป็นลักษณะของการปั่นเล่นแบบสนุกสนาน นิยมใช้จักรยานแม่บ้านเป็นส่วนใหญ่ และระยะทางในการปั่นจะน้อยกว่า 10 กิโลเมตรต่อครั้ง ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 5-6 กิโลเมตรเท่านั้น จึงเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องของการปั่นจักรยาน จักรยานจึงไม่ค่อยเหมาะสมกับรูปร่าง เพราะเป็นจักรยานที่ยืมหรือเช่ามาปั่น แต่ด้วยความที่ปั่นระยะทางสั้นๆ จึงไม่ค่อยสังเกตถึงอาการบาดเจ็บของตัวเอง” นายจิรเดช กล่าว
นายจิรเดช กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่อาการบาดเจ็บจะไม่รุนแรง ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน จึงมักปล่อยให้หายเอง หรือเพียงรับประทานยาบรรเทาอาการปวดเอง แต่เมื่อเกิดการปั่นซ้ำๆ อาการบาดเจ็บแม้จะเล็กน้อยก็จะเกิดการสะสมและทำให้รุนแรงและเรื้อรังขึ้นได้ในที่สุด ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนองานวิจัยดังกล่าวให้แก่ชมรมการปั่นจักรยานแล้ว ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาว่า คนไทยยังขาดความรู้ในการปั่นจักรยาน การเลือกจักรยาน ท่าทางในการปั่นที่ถูกต้อง รวมถึงการยืดเหยียดร่างกาย ซึ่งมีส่วนในการส่งผลต่อการบาดเจ็บของร่างกายทั้งสิ้น เพื่อจะได้มีการออกคำแนะนำในการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการปั่นจักรยานได้