xs
xsm
sm
md
lg

ประกันสังคมขยายสิทธิ “ปลูกถ่ายไขกระดูก” ใช้เนื้อเยื่อผู้บริจาคได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบขยายสิทธิประโยชน์ “ปลูกถ่ายไขกระดูก” เผย สามารถใช้เนื้อเยื่อจากผู้บริจาคได้ จากเดิมใช้ได้เฉพาะเนื้อเยื่อตัวเองและพี่น้อง เพิ่มอัตราค่าบริการจาก 7.5 แสนบาท เป็น 1.3 ล้านบาท เพิ่มข้อบ่งชี้ครอบคลุมโรคไขกระดูกผิดปกติชนิดผังผืด

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส. ได้ให้สิทธิประโยชน์กรณีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือปลูกถ่ายไขกระดูก ให้แก่ผู้ประกันตน มาตั้งแต่ปี 2540 โดย สปส. จะส่งผู้ประกันตนเข้ารับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับ สปส. อย่างไรก็ตาม ล่าสุด คณะกรรมการประกันสังคมได้เห็นชอบปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตให้ผู้ประกันตนในปี 2560 ดังนี้ 1. ขยายความคุ้มครองกรณีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากเนื้อเยื่อผู้บริจาค (Allogeneic unrelated) จากเดิมที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีการปลูกถ่ายโดยใช้เนื้อเยื่อตนเอง (Autologous) และปลูกถ่ายฯ โดยใช้เนื้อเยื่อของพี่น้อง (Allogeneic related) เท่านั้น

2. การขยายอายุของผู้มีสิทธิได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากเดิม 60 ปี เป็น 65 ปี 3. เพิ่มโรคที่มีสิทธิได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ได้แก่ โรคไขกระดูกผิดปกติชนิดผังผืด (Myelofibrosis) 4. ปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจาก 750,000 บาท เพิ่มเป็น 1,300,000 บาท สำหรับกรณีปลูกถ่ายฯ โดยใช้เนื้อเยื้อพี่น้อง โดยรวมค่าเตรียมเนื้อเยื่อ และกรณีปลูกถ่ายฯ โดยใช้เนื้อเยื่อผู้บริจาค

ทั้งนี้ ข้อบ่งชี้ 8 โรคที่มีสิทธิได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีลอยด์ชนิดเรื้อรัง มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลอีลอยด์ชนิดเฉียบพลัน มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโบลาส ชนิดเฉียบพลัน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง ไขกระดูกผิดปกติ ระยะก่อนเป็นมะเร็ง มะเร็งไขกระดูกชนิดมัยอีโลม่า และไขกระดูกผิดปกติชนิดเป็นพังผืด สำหรับปี 2559 มีผู้ประกันตนที่ได้รับการอนุมัติสิทธิกรณีการปลูกถ่ายไขกระดูกแล้วจำนวน 74 ราย ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลในบันทึกข้อตกลงกับ สปส. กรณีการปลูกถ่ายไขกระดูก ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
กำลังโหลดความคิดเห็น