สธ.แนะวิธีเตรียมสุขภาพก่อนท่องเที่ยวปีใหม่อย่างมีความสุข พักผ่อนให้เพียงพอ เลี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัด ล้างมือบ่อย ๆ ป้องกันเชื้อโรค เตือนเที่ยวป่าระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงติดโรคไข้รากสาดใหญ่
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประชาชนจะเดินทางท่องเที่ยวและพักผ่อนในจังหวัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อชมความงดงามของธรรมชาติ และพักผ่อนในช่วงวันหยุดยาว หลังจากการทำงานมาตลอดทั้งปี จึงมีคำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องสุขภาพก่อนการเดินทาง ดังนี้ ควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทางท่องเที่ยว หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด และไม่ควรใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ควรอยู่ในที่ซึ่งมีอากาศถ่ายเท ไม่เข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ธรรมดานาน 15-20 วินาที เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ราวบันได ลูกบิด ประตู แก้วน้ำ
ทั้งนี้ ในระหว่างการท่องเที่ยว ควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงหรืออากาศหนาวมากๆ ควรสวมเสื้อผ้าหนาๆ สวมถุงมือถุงเท้าและสวมหมวก หลังอาบน้ำควรทาโลชั่น หรือครีมบำรุงผิว กรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตกควรทาด้วยลิปบาล์ม สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องนำยาไปเพื่อรับประทานตามที่แพทย์สั่งด้วย นอกจากนี้ หากเดินทางไปเที่ยวหรือพักผ่อนในสถานที่ที่อากาศหนาวเย็น ไม่ควรดื่มสุราแก้หนาว เนื่องจากการดื่มสุราระยะแรกจะทำให้ร่างกายร้อนวูบวาบซึ่งเกิดจากการที่หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ความร้อนจะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง หากดื่มสุราในปริมาณมาก ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกดประสาทส่วนกลางทำให้มีอาการเมา อาจหลับโดยไม่รู้สึกตัว และถ้ามีเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นไม่เพียงพอ ร่างกายตากอากาศเย็นเป็นเวลานานอาจเสียชีวิตได้เช่นกัน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัด สธ. กล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางไปเที่ยวภูเขา ป่า ขอให้ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด ติดโรคไข้รากสาดใหญ่หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) ตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกเกตเซีย (Rickettsia orientalis) บริเวณที่ชอบโดนกัดคือในร่มผ้า เช่น ลำตัว เอว รักแร้ ขาหนีบ หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะมากโดยเฉพาะขมับและหน้าผาก คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ตัว ตาแดง ผิวหนังผู้ป่วยที่ถูกไรอ่อนกัดจะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ ลักษณะเป็นรอยบุ๋มสีดำ เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้
"การป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ผู้ที่จะไปเดินเที่ยวและพักค้างแรมในป่า ควรใช้ยาทากันแมลงกัด ที่แขน ขา ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ เหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่รองเท้า ถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกงไว้ ในการเลือกที่ตั้งเต็นท์พักในป่า ควรทำบริเวณที่พักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่ง นอนบริเวณพุ่มไม้ ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก และเมื่อกลับมาถึงที่พัก รีบอาบน้ำฟอกตัวด้วยสบู่ให้สะอาดทันทีหลังกลับมาจากการเข้าไปในแหล่งอาศัยของไรอ่อน รีบนำเสื้อผ้าไปต้ม หรือแช่ผงซักฟอกทันที เพื่อทำลายไรอ่อนที่อาจติดมากับเสื้อผ้าได้ หากภายใน 2 สัปดาห์หลังออกจากป่ามีอาการป่วยตามอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการเข้าไปในป่าเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะรักษาด้วยการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคสครับไทฟัส โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 – 20 ธันวาคม 2559 ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วย 6,668 ราย เสียชีวิต 2 ราย ภาคเหนือมีผู้ป่วยมากที่สุด 4,172 ราย รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,499 ราย โรคนี้สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดปี มักพบในกลุ่มชาวสวน ชาวไร่ นักล่าสัตว์ นักท่องป่า ทหาร และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า จะพบมากในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว โดยตัวไรแก่จะชอบอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์ เช่น หนู กระแต กระจ้อน หรือคนที่เดินผ่านไปมา เพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร