xs
xsm
sm
md
lg

ฝังเข็มต้านภูมิแพ้อากาศ ฟื้นสมดุลธาตุสู้ฤดูหนาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย...นายจักรี ตั้งเทียนชัยชนะ แพทย์แผนจีนประจำคลินิกการแพทย์ผสมผสาน วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

จากพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ฤดูหนาวของประเทศไทยในปี 59 - 60 จะหนาวนาน และหนาวเย็นกว่าในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา โดยภาคเหนือและอีสานจะมีอุณหภูมิต่ำสุดแตะ 6 - 7 องศา ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 14 - 15 องศา ทั้งนี้ เมื่อสภาพอากาศเริ่มเย็นลงจากการเปลี่ยนผ่านฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ร่างกายของคนเราอาจปรับตัวตามไม่ทันและอาจมีการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกจาก ‘โรคภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis)’

ปัจจุบันคาดการณ์ว่า มีคนไทยกว่า 10 ล้านคน เป็นโรคดังกล่าว โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคหวัด อาทิ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ แต่จะมีอาการคันบริเวณจมูก ตา และคอร่วมด้วย อีกทั้งผู้ป่วยมักมีอาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น มีอาการคัดจมูกเวลานอนทำให้นอนหลับไม่สนิท มีอาการหัวตื้อทำให้การเรียนหรือการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีโอกาสในการเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาไม่ว่าจะเป็นริดสีดวงจมูก นอนกรน ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบหลอดลมอักเสบ เป็นต้น

ในทางการแพทย์แผนจีนเชื่อว่า ความผิดปกติของร่างกายต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้จากเจิ้งชี่ (ภูมิต้านทาน) พร่อง ทำให้ปัจจัยก่อโรคภายนอกกระทบร่างกาย โรคภูมิแพ้อากาศมักพบบ่อยในช่วงอากาศเปลี่ยน อุณหภูมิแปรปรวน หากภูมิต้านทานร่างกายต่ำ การปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมช้า จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว โดยโรคภูมิแพ้อากาศมีความสัมพันธ์กับระบบการทำงานของปอด ม้าม และไตการรักษาจึงควรจำแนกภาวะโรค เช่น ภาวะชี่ปอดพร่อง ลมเย็นกระทบ หรือภาวะชี่ปอดและม้ามพร่อง น้ำและความชื้นสะสม หรือภาวะชี่ไตพร่อง ปอดขาดความอุ่น เป็นต้น

การจำแนกภาวะโรค จัดเป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของการรักษาทางการแพทย์แผนจีน ซึ่งทำให้เกิดผลการรักษาอย่างเป็นปัจเจกในแต่ละบุคคล และสามารถให้ผลการรักษาอย่างเป็นองค์รวม โดยแพทย์จีนจำเป็นต้องวิเคราะห์กลไกการเกิดโรคที่ต้นเหตุ และปรับแก้ความผิดปกติของระบบอวัยวะภายใน

โรคภูมิแพ้อากาศ มีอาการหลัก เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม เป็นต้น อาการแสดงในผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันนั้น จะถูกจำแนกภาวะโรคที่แตกต่างกันออกไป เช่น

- ผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกใส ปริมาณเยอะ อาการกำเริบฉับพลันหลังถูกลมเย็นกระทบ และมีพื้นฐานสุขภาพร่างกายที่กลัวลม กลัวหนาว เป็นหวัดง่าย เมื่อยล้า อ่อนแรง เหงื่อออกง่าย เป็นต้น จะจัดอยู่ในภาวะชี่ปอดพร่อง ลมเย็นกระทบ

- ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูกน้ำมูกเหนียวขาว ไหลยืด ปกติมีอาการหนักศีรษะ เวียนศีรษะ ขาดชีวิตชีวา หายใจสั้น กลัวหนาว หนักตัว ไม่อยากอาหาร อุจระเหลว เป็นต้น มักจัดอยู่ในภาวะชี่ปอดและม้ามพร่อง น้ำและความชื้นสะสม

- ผู้ป่วยมีอาการภูมิแพ้เรื้อรัง เป็นระยะเวลานาน อาการคัดจมูก จามจะกำเริบช่วงรุ่งสางและพลบค่ำ เยื่อบุจมูกบวม ปวดเมื่อยเอว เข่าอ่อนแรง อาจพบอาการวิงเวียนศีรษะ หูอื้อ หลงลืม ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน นอนไม่หลับ น้ำกามเคลื่อน ปัสสาวะใน ปริมาณเยอะ ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย เป็นต้น จะจัดอยู่ในภาวะไตพร่อง

ทั้งนี้ การรักษาโรคภูมิแพ้อากาศ แพทย์จีนจำเป็นต้องซักประวัติ และสังเกตอาการของผู้ป่วยให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อวินิจฉัยภาวะโรคได้อย่างแม่นยำ และวิเคราะห์วิธีการรักษาอย่างเหมาะสม ปี ค.ศ.2015 American Academy Of Otolaryngology-Head and Neck Surgery Foundation ได้แนะนำแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยให้การฝังเข็มเป็นทางเลือกในการรักษาโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จากหลักฐานเชิงประจักษ์พบว่าการฝังเข็มสามารถควบคุมอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิต ในผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้แบบตลอดทั้งปี อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังได้รับรองว่าการฝังเข็มมีประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วยในโรคนี้ได้เช่นกัน

สำหรับการรักษาแต่ละครั้ง แพทย์จีนจะทำการตรวจร่างกายโดยการสอบถามอาการการฟัง การดมกลิ่น การดูลิ้น และการจับชีพจร หลังจากแพทย์จีนตรวจวินิจฉัยอาการโรคเรียบร้อยแล้ว จะใช้เข็มที่ทำด้วยสแตนเลสไม่เป็นสนิมที่มีขนาดเล็กแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทำลาย ปักตรงจุดฝังเข็มตามแนวเส้นลมปราณที่ตรงกับอาการโรค และคาเข็มไว้บนร่างกายผู้ป่วยประมาณ 30 นาที ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยขณะเข็มผ่านชั้นผิวหนัง และรู้สึกตื้อๆ หรือหนักๆ บริเวณจุดฝังเข็มนั้นๆ หลังจากนั้น อาจมีการปั่นหรือซอยเข็ม กระตุ้นไฟฟ้า หรืออบความร้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการฝังเข็ม เมื่อเสร็จสิ้นการฝังเข็มผู้ป่วยจะรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การฝังเข้มควรทำซ้ำหลายครั้ง โดยจำนวนครั้งขึ้นอยู่กับชนิดหรือความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์จีน

นอกจากการรักษาด้วยการฝังเข็ม ยังมีอีกหลายวิธีการรักษาทางแพทย์แผนจีน ที่สามารถช่วยในการรักษาโรคภูมิแพ้อากาศได้ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรจีน การกัวซา การครอบแก้ว หรือการนวดทุยหนา เป็นต้น โดยแพทย์จีนจะเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับอาการป่วยของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศควรจะมีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการรักษา โดยต้องรู้จักหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ฝุ่น ตัวไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อราในอากาศ ขนสัตว์ ควันรถ ควันบุหรี่ น้ำหอมกลิ่นฉุน เป็นต้น และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด หรือเย็นจัด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างฉับพลัน พร้อมสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ เพื่อรักษาความอบอุ่นให้ร่างกายอยู่เสมอ ตลอดจนนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้อีกทางหนึ่ง ในประเทศจีนนิยมนำสมุนไพรเช่น ขิงสด พุทราจีน น้ำตาลทรายแดง มาต้มดื่มเพื่อป้องกันหรือลดการกำเริบซ้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น