มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผย รถโดยสารสาธารณะแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น รุนแรงขี้น ชี้ “รถตู้โดยสาร” ครองแชมป์อุบัติเหตุ เฉลี่ย 19.5 ครั้งต่อเดือน ตาย 9 คนต่อเดือน รถทัวร์โดยสารประจำทางติดอันดับสอง รถแท็กซี่สถิติสูงกว่ารถเมล์ ชงมาตรการพักใบอนุญาตการเดินรถ
วันนี้ (20 ธ.ค.) นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของเครือข่ายเฝ้าระวังอุบัติเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2559 พบว่า “รถตู้โดยสาร” มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ 215 ครั้ง หรือ 19.5 ครั้ง/เดือน บาดเจ็บ 1,102 คน หรือ 100 คน/เดือน มีผู้เสียชีวิต 103 คน หรือ 9.4 คน/เดือน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความประมาทในการขับรถของผู้ขับขี่ และสาเหตุความรุนแรงของการบาดเจ็บและเสียชีวิต กิดจากสภาพของรถตู้โดยสารดัดแปลงที่ไม่เหมาะกับการบรรทุกผู้โดยสาร ขณะที่รถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุต่อปีตามลำดับ คือ รถทัวร์โดยสารประจำทาง 141 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 1,252 คน เสียชีวิต 56 คน รถทัวร์โดยสารไม่ประจำทาง 52 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 576 คน เสียชีวิต 47 คน รถแท็กซี่ 77 ครั้ง บาดเจ็บ 84 คน เสียชีวิต 7 คน และรถเมล์โดยสาร 48 ครั้ง บาดเจ็บ 75 ครั้ง เสียชีวิต 10 คน
นายคงศักดิ์ กล่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะเกิดจากหลายปัจจัยทั้งคน รถ และถนน เช่น พฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทของผู้ขับขี่ โครงสร้างรถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย รูปแบบถนนที่เป็นอุปสรรคและไม่เอื้อต่อการขับขี่ของรถโดยสาร ความไม่พร้อมและการไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยในการให้บริการของผู้ประกอบการ รวมถึงมาตรการกำกับดูแลของรัฐที่ไม่ต่อเนื่องจริงจัง
“แม้กฎหมายจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย แต่จากการสำรวจคุณภาพความพึงพอใจของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถตู้และรถทัวร์โดยสารในปี 2558 ก็ยังพบปัญหาของรถโดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัยแต่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยประจำรถ พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท สภาพร่างกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การบรรทุกผู้โดยสารเกิน โดยเฉพาะในรถตู้ประจำทาง” นายคงศักดิ์ กล่าว
นายคงศักดิ์ กล่าวว่า จากปัญหาทั้งหมด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่ารัฐควรมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พัฒนาระบบสัญญาใบอนุญาต ตลอดจนความปลอดภัยรถโดยสาร และเข้มงวดกับการตรวจรถโดยสารมากยิ่งขึ้น หากมีกรณีอุบัติเหตุซ้ำซาก ควรมีมาตรการพักใบอนุญาตการเดินรถของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยทางถนนและการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ