xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์วิจัยขยายพันธุ์ “ต้นซิโคนา” ใช้รักษาโรคมาลาเรีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์ ตั้งสวนสมุนไพร 3 แห่ง เดินหน้าวิจัยพัฒนาสมุนไพรไทย ช่วยเพิ่มการเพาะปลูก ขยายพันธุ์ ส่งเสริมสมุนไพรท้องถิ่น ต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม เผยปลูกต้นซินโคนา หรือ ควินิน ที่สวมสมุนไพรกรมฯ จ.เชียงใหม่ ใช้รักษาโรคมาลาเรีย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการปลูกต้นซินโคนา ณ สวนสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า สวนสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีทั้งหมด 3 แห่ง คือ จ.จันทบุรี จ.ระยอง และ จ.เชียงใหม่ มีภารกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาสมุนไพร เพื่อให้คนไทยสามารถนำสมุนไพรไทยมาใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ อีกทั้งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์สมุนไพรไทยในท้องถิ่นที่มีศักยภาพ ผลิตวัตถุดิบในการวิจัย เพาะปลูกเพื่อขยายพันธุ์ และแจกจ่ายกล้าพันธุ์สมุนไพรคุณภาพให้กับให้แก่ชุมชน สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ให้กับชุมชนทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองตลอดจนพัฒนาวิจัยผลิตภัณฑ์สินค้าคุณภาพระดับสากลตามแนวทางพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับสวนสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.เชียงใหม่ หรือ สวนซินโคนา ดอยสุเทพ ตั้งขึ้นในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยได้มีการนำต้นซินโคนา (ควินิน) มาทดลองปลูก เพื่อใช้ในการรักษาโรคมาลาเรีย ต่อมากรมฯ ได้ทำการวิจัยและขยายพันธุ์ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น เนื่องจากมีสรรพคุณตามการแพทย์พื้นบ้านที่หลากหลาย เช่น ลดไข้ รักษาโรคมาลาเรีย คลายกล้ามเนื้อ ควบคุมการเต้นของหัวใจ กระตุ้นระบบทางเดินอาหาร ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ฆ่าแมลง ระงับประสาท เป็นต้น โดยเปลือกต้นซินโคนายังมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มในหลายประเทศ รวมทั้งยุโรปอีกด้วย ดังนั้น สวนสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.เชียงใหม จึงเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ต้นซินโคนาที่มีคุณภาพเพื่อสามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดด้านอุตสาหกรรมสมุนไพรต่อไป

“นอกจากนี้ ยังได้มีการศึกษาทดลองปลูกพืชสมุนไพรชนิดอื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ไปด้วย ได้แก่ ค้างคาวดำ เท้ายายม่อม มะเกว๋น กำลังเสือโคร่ง นางพญาเสือโคร่ง ไก๋แดง พญาไม้ เพื่อวิจัยและอนุรักษ์ และเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไป และยังได้สนับสนุนต้นกล้าสมุนไพรไทยให้กับชุมชน ตามโครงการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้การผลิตสมุนไพรมีคุณภาพมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น” นพ.สุขุม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น