วธ. ประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติประจำปี 2559 รวม 12 คน ใน 3 สาขา “สมบัติ - ธนิสร์” ด้าน สวธ. เตรียมทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ
วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่กระทรวงวัฒนธรรม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ครั้งที่ 5/2559 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณารายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2559 โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลให้เป็นศิลปินแห่งชาติใน 3 สาขา จำนวน 12 คน ดังนี้ สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 คน ได้แก่ นางคำสอน สระทอง (ประณีตศิลป์ - ทอผ้า) นายเดโช บูรณบรรพต (ภาพถ่าย) นางลาวัณย์ อุปอินทร์ (จิตรกรรม) และ รศ.เสนอ นิลเดช (สถาปัตยกรรมไทยประเพณี) สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 4 คน ได้แก่ นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ นางชูวงศ์ ฉายะจินดา นายธัญญา สังขพันธานนท์ และ ศ.พิเศษ เรืองอุไร กุศลาสัย สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 4 คน ได้แก่ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (ดนตรีไทยสากล) นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ (การแสดงพื้นบ้าน - ช่างฟ้อน) นายสมบัติ เมทะนี (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) นายหะมะ แบลือแบ (มะยะหา) (การแสดงพื้นบ้าน - ดีเกร์ฮูลู)
พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รับพระราชทานเข็มที่ระลึกและโล่เชิดชูเกียรติ ในวันศิลปินแห่งชาติ วันที่ 24 ก.พ. 2560 หรือวันเวลาใดตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 278 คน เสียชีวิตไปแล้ว 120 คน และมีชีวิตอยู่ 158 คน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับค่าตอบแทน เดือนละ 25,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท และหากเสียชีวิตจะมีค่าช่วยเหลืองานบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตไม่เกิน 150,000 บาท
ด้าน นายวีระ โรจนพจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ละเอียด และโปร่งใสหลายขั้นตอน และเมื่อมาถึง กวช. ก็ใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนาน ด้วยความจริงจังและยึดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดังนั้น ขอยืนยันว่า กวช. ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ตรายางอย่างเดียว