วธ. รวบรวมถ้อยคำ - บทกลอน - บทเพลงแสดงความอาลัย ในหลวง ร.๙ ทำจดหมายเหตุ
วันนี้ (11 พ.ย.) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการรวบรวมบทกลอน บทเพลง ถ้อยคำแสดงความอาลัย เพื่อจัดทำจดหมายเหตุแสดงความอาลัยที่ประชาชนมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ กวี และนักเขียน เข้าร่วมประชุม ว่า ในขณะนี้ได้รวบรวมถ้อยคำแสดงความอาลัย 12,568 ข้อความ บทกลอน 417 สำนวน และบทเพลง 110 เพลง ทั้งนี้ ในส่วนของบทเพลงที่ประพันธ์จะขอลิขสิทธิ์และรวบรวมไว้ที่หอสมุดเพลง ภายในหอสมุดแห่งชาติ และเปิดให้ประชาชนดาวน์โหลด
รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า วธ. ได้ขอความร่วมมือศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันคัดเลือกถ้อยคำ บทกลอน และบทเพลงที่ใช้ถ้อยคำถูกต้อง ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกจะพิจารณาจากความเหมาะสม มีความไพเราะ งดงามทางภาษา และสมพระเกียรติ รวมทั้งครอบคลุมพระราชกรณียกิจทุกด้าน เพื่อจัดทำเป็นจดหมายเหตุแสดงความอาลัย อย่างไรก็ตาม ทุกถ้อยคำและทุกคำกลอนแสดงความอาลัยทั้งหมด วธ. จะติดตามและรวบรวมบทกลอนถ้อยคำแสดงความอาลัยของประชาชนและหน่วยงานต่างๆ จากสื่อต่างๆ และสื่อโซเซียลมีเดียมารวบรวมไว้ในหอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมกันนี้ วธ. จะส่งเสริมให้โรงเรียนต่างๆ สอนนักเรียนเรื่องการเขียนคำกลอนทั้งในรูปแบบร้อยแก้วและร้อยกรอง
ดร.สมยศ แสงสุวรรณ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า จากการติดตามการเขียนคำกลอนแสดงความอาลัยต่อพระองค์มีจำนวนมาก ทั้งชาวไทย และจากต่างประเทศ ดังนั้น สมาคมฯกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ด้านคำกลอนจะคัดเลือกบทกลอนที่เหมาะสม โดยยึดหลักการพิจารณาจากความงามทางภาษาและใช้ถ้อยคำถูกต้อง ซึ่งจะเลือกบทกลอนกล่าวถึงประวัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระราชกรณียกิจ โครงการในพระราชดำริ เช่น ฝนหลวง ช่างหัวมัน แกล้งดิน ฯลฯ
“พระองค์ทรงห่วงใยการเรื่องใช้ภาษาของเยาวชน อยากให้ใช้ภาษาอย่างถูกต้อง ดังนั้น การคัดเลือกบทกลอนครั้งนี้ นับว่าเป็นการฟื้นฟูและกระตุ้นให้ เด็ก เยาวชน ใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ทางสมาคมฯจะประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ครูสอนภาษาไทย ปลูกฝังให้นักเรียนเขียนร้อยแก้ว ร้อยกรอง เนื่องจากขณะนี้เด็กเขียนบทกลอนน้อยลง” ดร.สมยศ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่