xs
xsm
sm
md
lg

480 ช่างภาพร่วมบันทึกจดหมายเหตุงานพระบรมศพ ในหลวง ร.๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


480 ช่างภาพผนึกพลังบันทึกจดหมายเหตุงานพระบรมศพในหลวง ร.๙ “วีระ” เผยทำจดหมายเหตุฉบับประชาชนเสร็จแล้ว 3 ชุด

วันนี้ (13 ธ.ค.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการเสวนา “รวมพลังบันทึกจดหมายเหตุแห่งชาติ เนื่องในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการบันทึกจดหมายเหตุงานพระราชพิธีพระบรมศพให้แก่ช่างภาพมืออาชีพ ช่างภาพจิตอาสา ที่มีทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เนื่องจากเป็นเอกสารสำคัญของชาติที่ใช้บันทึกข้อมูลและภาพเหตุการณ์สำคัญ เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ในอดีตให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย สมาคมช่างภาพแห่งประเทศไทย สมาคมช่างภาพกรุงเทพ กลุ่มสห+ภาพ ศิลปินแห่งชาติด้านการถ่ายภาพของหน่วยงานต่างๆ และถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดรับสมัครช่างภาพจิตอาสาร่วมบันทึกเหตุการณ์ ในขณะนี้มีช่างภาพเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 480 คน

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำจดหมายเหตุฉบับประชาชน ซึ่งล่าสุดได้จัดทำประมวลภาพเหตุการณ์งานพระบรมศพเสร็จแล้ว 3 ชุด โดยหนึ่งชุดมีทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ 1. เหตุการณ์ในส่วนกลาง 2. ภาพเหตุการณ์ในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด และ 3. ภาพเหตุการณ์นานาอารยประเทศ โดยแต่ละเล่มใช้ภาพเล่มละ 2,400 ภาพ ซึ่ง วธ. ได้คัดเลือกจากภาพที่ประชาชนและช่างภาพมืออาชีพส่งเข้าให้ วธ. ที่มีจำนวนกว่า 40,000 ภาพ

นายวีระ กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ยังมอบหมายให้มีการนำถ้อยคำแสดงความอาลัยบนป้ายบิลบอร์ดที่ทุกภาคส่วนนำมาติดตามเส้นทางต่างๆ ทั่วประเทศ มาร่วมบันทึกในจดหมายเหตุ รวมถึงเตรียมนำภาพถ่ายไปจัดนิทรรศการในต่างประเทศ เนื่องในการบำเพ็ญพระราชกุศลครบ 100 วัน ที่ประเทศญี่ปุ่น และที่วัดเส้าหลิน ประเทศจีน ต่อไป

ด้าน น.ส.นันทกา พลชัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในการบันทึกจดหมายเหตุในประวัติศาสตร์ที่มีการรวบรวมข้อมูล และภาพเหตุการณ์อย่างครบถ้วนมากที่สุดทุกขั้นตอน และจากสื่อทุกประเภท อย่างไรก็ตาม การบันทึกจดหมายเหตุครั้งนี้ได้นำต้นแบบของการบันทึกจดหมายเหตุงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ของ ร.๕ ร.๖ และ ร.๘ มาเป็นต้นแบบดำเนินการทั้งภาคพระราชประวัติ ภาคพระอาการประชวร เสด็จสวรรคต ภาคพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ภาคจัดเตรียมพระราชพิธีขั้นตอนต่างๆ ทั้งการบวงสรวง ส่งมอบไม้จันทน์ ประกอบพระโกศจันทน์ และภาคพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจนเสร็จสิ้นพระราชพิธี โดยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคประชาชนจิตอาสาที่คอยบันทึกภาพเหตุการณ์ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ คาดว่า จะใช้เวลานานเป็นปีซึ่งทุกคนก็เต็มใจ

“ภาพที่จะส่งเข้ามาให้สำนักหอจดหมายเหตุ ขอให้เป็นภาพเหตุการณ์จริง โดยสามารถตกแต่งแสงได้บ้างเล็กน้อย แต่ให้คงความเป็นจริงมากที่สุด ที่สำคัญ อย่าทำเป็นภาพซีเปีย หรือขาวดำโดยเด็ดขาด ระบุชื่อผู้ถ่าย ส่วนการคัดเลือกภาพที่จะนำมาบันทึกลงจดหมายเหตุนั้นจะเน้นภาพที่เล่าเหตุการณ์ได้” น.ส.นันทกา กล่าว

ขณะที่ ด.ญ.แพรทอง ใจอ่อน อายุ 14 ปี และ ด.ช.ธารา ใจอ่อน อายุ 11 ปี โรงเรียนสารสาส์นวิเทศธนบุรี ในฐานะช่างภาพจิตอาสา กล่าวว่า ตั้งใจมาเก็บภาพเพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ พอมาลงภาคสนามก็เจอปู่ย่าตายายจำนวนมาก ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อมากราบพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยากมีภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งได้เดินทางมากราบพระองค์ จึงช่วยถ่ายรูปโพลาลอยให้ปูย่าตายายได้มีรูปติดมือกลับไปเป็นที่ระลึกกว่า 300 รูป นอกจากนี้ ยังช่วยถ่ายรูปให้กับผู้ที่มาเป็นหมู่คณะด้วย โดยทุกวันหลังเลิกเรียนเราสองพี่น้องจะเดินทางมาช่วยถ่ายรูป ส่วนวันเสาร์ - อาทิตย์ จะมาตั้งแต่เช้า อย่างไรก็ตาม ตั้งใจจะถ่ายรูปอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงพระราชทานเพลิง

“นอกจากถ่ายรูปโพลาลอยให้กับผู้ที่ไม่มีกล้องแล้ว ยังถ่ายรูปให้กับผู้ที่มาคนเดียว หรือมาเป็นกลุ่ม คณะ แต่อยากมีรูปครบทุกคน พอถ่ายรูปเสร็จแล้วจะส่งผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมกันนี้ ยังเดินตระเวนถ่ายภาพบรรยากาศ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่รายรอบท้องสนามหลวงด้วย” ด.ญ.แพรทอง กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น