xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ ทำจดหมายเหตุครอบคลุมทุกรายละเอียด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมศิลป์ วางแผนจัดทำจดหมายเหตุฉบับราชการครอบคลุมทุกรายละเอียด เพื่อให้ประชาชนรุ่นหลังได้ศึกษา

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนเน้นย้ำให้กลุ่มบันทึกจดหมายเหตุ ของสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ จำนวน 20 คน จดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้นในพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม เป็นต้นมา แบ่งเป็น 5 กลุ่มงาน เน้นการจดบันทึก ทั้งเรื่องพระราชพิธีพระบรมศพ การประโคมย่ำยาม เหตุการณ์ประจำวัน บรรยากาศรอบพระบรมมหาราชวัง และการเข้าแถวเพื่อรอถวายสักการะพระบรมศพ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกคนเก็บรายละเอียดทุกขั้นตอน เพราะนับตั้งแต่เสด็จสวรรคตมีประชาชนทั่วทุกสารทิศเดินทางเข้ามาถวายสักการะพระบรมศพจำนวนมาก สำหรับการบันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์ความรู้สึกประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เยาวชนหนุ่มสาว เพื่อสื่อถึงความจงรักภักดีของคนไทยที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙

“ในการจัดทำจดหมายเหตุครั้งนี้ จะเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพราะในวันข้างหน้าจะเป็นเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งขั้นตอนการจัดทำจดหมายเหตุที่สำคัญที่สุด คือ การเรียบเรียง จึงได้เตรียมทีมเรียบเรียงจดหมายเหตุ โดยเชิญอดีตนักจดหมายเหตุและผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มงานจดหมายเหตุที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมจัดทำ คาดว่า การจัดทำจดหมายเหตุราชการครั้งนี้จะมีประมาณ 4 เล่ม ล่าสุด ผมได้ทำหนังสือประสานสำนักพระราชวัง เพื่อขอข้อมูลการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายภัตตาหารเช้าและภัตตาหารเพล ว่า มีรายการอาหารอะไรบ้างถวายแด่พระพิธีธรรม เพราะทุกเหตุการณ์ละเลยไม่ได้ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะเป็นเอกสารไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เช่นเดียวกับพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น