xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยัน รพ.ไม่ขาดแคลน “เครื่องมือแพทย์” มาตรฐาน จัดซื้อตรงสเปกที่ รพ.ต้องการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ. ยัน รพ. ในสังกัดไม่ขาดแคลน “เครื่องมือแพทย์” มาตรฐานในการช่วยชีวิต แต่ต้องการเครื่องมือแพทย์ให้พอ “ปริมาณงาน” ที่มากขึ้น และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ย้ำจัดซื้อตรงสเปก เหตุ รพ. เป็นคนเสนอเอง เผยปี 60 จัดงบ 2.7 พันล้านบาทในการจัดซื้อแล้ว

จากกรณี “ตูน บอดี้สแลม” หรือ นายอาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องชื่อดัง จัดกิจกรรม “ก้าวคนและก้าว” เพื่อระดมทุนมอบให้โรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปพัฒนาและจัดหาเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมียอดเงินบริจาคทั้งสิ้นกว่า 70 ล้านบาท และเกิดกระแสวิจารณ์ในสังคมออนไลน์ถึงปัญหาโรงพยาบาลรัฐขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ เพราะปัญหาคนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ รวมถึงปัญหาการจัดซื้อที่ไม่ตรงสเปก ตกรุ่น และไม่มีงบประมาณในการบำรุงรักษานั้น

วันนี้ (13 ธ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว ว่า การจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ตรงสเปกนั้น ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งเป็นผู้จัดทำสเปกขึ้นมาเสนอเอง โดยหน่วยงานในภูมิภาคจะมีคณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ (Specification) ตามความต้องการผู้ใช้ ว่า ที่ไหนมีความจำเป็น และหากเป็นรายการที่อยู่ในบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณก็จะเป็นไปตามข้อกำหนดเบื้องต้นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์มีอยู่ 4 แนวทาง คือ 1. งบประมาณประจำปีเป็นงบลงทุนจากสำนักงบประมาณ 2. งบค่าเสื่อมจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดซื้อทดแทน 3. เงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นรายได้ของโรงพยาบาล หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการรักษาทั้งกลุ่มสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม หรือแม้แต่บัตรทอง ก็สามารถนำมาใช้จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นได้ และ 4. เงินบริจาคจากประชาชน หรือผู้มีจิตศรัทธา

“ยืนยันว่า โรงพยาบาลสังกัด สธ. ไม่ได้ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์อย่างที่เป็นข่าว และไม่ได้แย่ถึงขนาดไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ เพราะรัฐบาลก็สนับสนุนงบประมาณอยู่ และเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นหรือเป็นมาตรฐานในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ทุกโรงพยาบาลมีพร้อม เพียงแต่ปัจจุบันมีการขยายงานบริการเพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่าปริมาณงานมากขึ้น จำเป็นต้องใช้เครื่องมือแพทย์เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และยังมีคนสูบบุหรี่อยู่มาก ทำให้เกิดความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ใช้เฉพาะแต่ในห้องฉุกเฉินเท่านั้น แต่ต้องจัดหาเครื่องช่วยหายใจไว้ในตึกธรรมดาด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ต้องได้รับการจัดซื้อจัดหาให้ทันสมัยและเพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ ทันสมัย อาจส่งผลให้โรงพยาบาลต้องรอการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อ โดยในปีงบประมาณ 2560 ได้จัดสรรงบลงทุนครุภัณฑ์การแพทย์ จำนวน 2,702,568,000 บาท” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าวของนักร้องดัง ตนขอชื่นชมและถือเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะพูดชัดเจนว่าถ้าหากไม่อยากมาโรงพยาบาลก็ควรหันมาออกกำลังกาย เป็นการปลุกกระแสคนรักสุขภาพ และยังเป็นการดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐ เป็นการรวมน้ำใจของประชาชนที่จะร่วมทำบุญกับศิลปินที่ตนเองชื่นชม เพื่อมอบสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ผ่านทางโรงพยาบาลสังกัด สธ. ซึ่งสร้างจากภาษีของประชาชน เป็นตัวอย่างประชารัฐที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนพัฒนา สนับสนุนดูแลโรงพยาบาลใกล้บ้าน ให้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนยามเจ็บป่วย ที่สำคัญ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าโรงพยาบาลเป็นของเขา เพราะฉะนั้น โรงพยาบาลจะทำอะไรก็จะคำนึงถึงเรื่องนี้ ตรงนี้จะช่วยให้เกิดการบริการที่เป้นมิตรมากยิ่งขึ้น

“ที่ผ่านมา โรงพยาบาลในสังกัด สธ. ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้มีจิตกุศลและองค์กรต่างๆเสมอมา ต้องขอขอบคุณทุกๆ ท่าน ทุกภาคส่วนของสังคม ที่เอื้ออาทรดูแลสนับสนุนโรงพยาบาลมาโดยตลอด ไม่ได้ปล่อยให้เป็นกลไกของรัฐฝ่ายเดียว สำหรับโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงพยาบาลอำเภอที่ สธ. พัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ดูแลประชาชนในอำเภอใกล้เคียง ได้สนับสนุนงบประมาณ อาทิ งบบัตรทองรอบแรก 30 ล้านบาท ให้ทุนแพทย์เรียนต่อเฉพาะทางหลายสาขา เป็นต้น” ปลัด สธ. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น