xs
xsm
sm
md
lg

“หัวเชื้อกลิ่นแมงดา” ใช้ทำอาหารได้ ไม่อันตราย หลังคนตื่นทำโฟมละลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์แจง “วัตถุแต่งกลิ่นแมงดา” ทำโฟมละลายได้จริง เหตุมีส่วนประกอบทางเคมีที่เป็นตัวทำละลายโพลิเมอร์ แต่ยันใช้ปรุงอาหารได้ ไม่อันตราย หากใช้ปริมาณเหมาะสมตามกำหนดบนฉลาก ห้ามสัมผัส กลืนกินโดยตรง

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีข่าวหัวเชื้อน้ำพริกแมงดา หรือวัตถุแต่งกลิ่นอาหาร “กลิ่นแมงดา” ทำให้โฟมละลายได้ ว่า ปกติ “แมงดานา” จะมีกลิ่นเฉพาะตัวจากฟีโรโมนเพศ “gland liquid” สำหรับดึงดูดตัวเมียในการผสมพันธุ์ ประกอบด้วย สารหลายชนิด กลิ่นนี้จะมีก็ต่อเมื่อแมงดานาโตเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์ นอกจากนี้ แมงดานายังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วย โปรตีน 19.8 กรัม ไขมัน 8.3 กรัม แคลเซียม 43.5 มิลลิกรัม เหล็ก 13.0 มิลลิกรัมต่อแมงดา 100 กรัม ปัจจุบันอุตสาหกรรมทำน้ำพริกแมงดาต้องการแมงดานาเป็นจำนวนมาก แต่แมงดานาหายาก จึงมีการสังเคราะห์สารเลียนแบบฟีโรโมนเพศของแมงดา ซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า “กลิ่นแมงดา” เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุแต่งกลิ่นอาหาร โดยกลิ่นแมงดาประกอบด้วยสาร 4 ชนิด ได้แก่ โพรพีลินไกลคอล (propylene glycol) เอทิลอะซีเทต (ethyl acetate) เฮกซิลแอซีเทต (hexyl acetate) และไดเมทิลซัลไฟด์ (dimethyl sulfide)

“ยืนยันว่า หัวเชื้อน้ำพริกแมงดา ทำให้โฟมละลายได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หากใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลาก เพราะวัตถุแต่งกลิ่นแมงดาได้มาจากการผสมของสารสำคัญในกลุ่มสารอินทรีย์ที่ให้กลิ่นและรสหลายชนิดเข้าด้วยกัน เช่น สารเฮกซิลอะซิเทต (hexyl acetate) สารกลุ่มเอสเตอร์ (ester) ที่เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติทางเคมีสามารถใช้เป็นตัวทำละลาย เรซิน โพลิเมอร์ ไขมัน หรือน้ำมันได้ จึงสามารถทำให้โฟมซึ่งมีส่วนประกอบหลัก คือ สารกลุ่มโพลิเมอร์ละลายได้” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยวัตถุแต่งกลิ่นแมงดา หรือหัวเชื้อน้ำพริกแมงดาจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 223) พ.ศ. 2544 เรื่อง วัตถุแต่งกลิ่นรส และมีคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ซึ่งจัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก (Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives : JECFA) และเป็นสารในบัญชีขององค์กรสากลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสารให้กลิ่นรส (Flavor & Extract Manufacturers’ Association, FEMA) ดังนั้น วัตถุแต่งกลิ่นแมงดาหรือหัวเชื้อน้ำพริกแมงดาจึงเป็นสารที่ปลอดภัยสามารถใช้ปรุงอาหารได้ในปริมาณน้อย ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะวัตถุแต่งกลิ่นแมงดาจะเป็นอันตรายหากกลืนกินโดยตรง หรือต่อเมื่อสัมผัส หรือสูดดม สารเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจึงควรใช้ให้เหมาะสม ใช้ปริมาณตามที่ระบุในฉลาก ไม่จำเป็นต้องกังวลหรือตื่นตระหนก
กำลังโหลดความคิดเห็น